สวนพุทธธรรม ปัญญจิตตธัมโม
Personal menu
Search

ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของกาย

ธรรมบรรยาย วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๑

 

เราเคยสังเกตไหมว่า เราหลงแต่อารมณ์ วันไหนเราอารมณ์สมหวัง เราก็คิดว่าเรามีความสุข คนรอบข้างก็มีความสุข วันไหนที่เราหงุดหงิดขึ้นมา คนรอบข้างก็กระเด็นไปคนละทิศ

ฉะนั้น ตรงนี้แหละ ที่ทำให้เราต้องหันกลับมามองว่า เราจะศึกษามันอย่างไร นี่คือ ภาวะพุทธะ พุทธะ แปลว่าผู้ตื่นรู้ ศาสนาแห่งพุทธะคือศาสนาแห่งการตื่นรู้ ตื่นรู้ที่ไหน ตื่นรู้ที่จิตของเรา เพื่อจะเอาจิตของเรามารับรู้สภาวะกาย แล้วเอาจิตของเรามารับรู้สภาวะอารมณ์ เพื่อที่จะสาวเข้าไปถึงตัวจิตของมันว่าควรจะทำอย่างไร

อุบายนั้น ทุกคนก็เรียนรู้มาไม่มากก็น้อย บางคนก็บริกรรมพุทโธๆ บางคนก็ดูลมหายใจ นั่งหลับตา พุทโธๆ ๑๐ นาที ก็ไปเฝ้าวิมานใช่ไหม หลับไปเลย ก็เลยกลายเป็นติดอารมณ์สงบ อารมณ์ขณะที่ภาวนา คือการหยุดคิดไปชั่วคราว

คำถามง่ายๆ ก็คือว่า เมื่อเราหลับไปขณะภาวนาแล้ว เราได้อะไร มันไม่ได้ต่างอะไรจากการนอนหลับเลย เราไม่รู้จักคำว่า ตื่น อยู่ข้างใน ที่เรียกว่า พุทธะ

เมื่อจิตมันยังซึมเซา มืดบอด มันจะรู้จักความตื่นไหม ไม่มีทางรู้จักความตื่นข้างในได้เลย เราก็ค้นจิตไม่เจอ รู้จักแต่อารมณ์ของตัวเองที่จิตเข้าไปหลง เช่น ความรัก ความชัง

สามี ภรรยา วันนี้อารมณ์รักกันมาก พอสี่ห้าวันก็ชังกันอีก เพื่อนฝูง วันนี้ไปด้วยกัน เที่ยวสนุกก็รักกัน พอยืมเงินแล้วไม่จ่ายก็เกลียดโกรธกันขึ้นมา นี่คือสภาวะของสังคมที่เราไม่มีทางทันอารมณ์เลย เราเป็นทาสของอารมณ์ และถ้าเกิดเรายังเป็นอย่างนี้ต่อไปจนถึงวันตาย เราก็อยู่กับอารมณ์นั้น ตายคาอารมณ์

สมมติว่าวันนี้เราจะตาย อารมณ์อะไรที่เกิดขึ้น

กลัวตาย!

ถ้าเป็นพ่อ นอกจากกลัวตายแล้ว ยังห่วงลูก ห่วงมาตลอดชีวิต จนถึงวันสุดท้ายก็ยังห่วงอยู่อีก ฉันตายไปแล้วมันจะอยู่กันอย่างไร

ลูกบอกว่า พ่อ พ่อห่วงไปเองนะ เราอยู่กันได้สบาย มันโตกันแล้ว

แต่ความรัก อารมณ์ของความรัก ความห่วงอาลัย มัดเราไว้กับอารมณ์ สุดท้ายมันก็คือ สภาวะทุกข์ ใช่หรือเปล่า

ทีนี้จะเอาความเป็นจริงของทุกคนมาพูดให้ฟัง

วันที่เราจะตายเราเป็นอย่างไร คนที่ตายไปแล้วไม่เคยกลับมาบอก แต่คนที่อยู่ก็คุยกันไป ตายแล้วจะไปไหน คนตายไปแล้วไม่เคยมาบอก คนที่อยู่เมื่อเห็นว่าตายแล้วก็ทำบุญไปให้ ได้รับหรือไม่ได้รับก็ไม่รู้ได้

ทำบุญแล้วได้รับไหม แต่รู้แน่ว่าทำบุญแล้วพระอิ่ม เราก็อิ่ม อิ่มกาย อิ่มใจ เชื่อไหมว่าเราไม่เคยศึกษากันจริงๆ เลย ว่า บุญน่ะ ตัวตนของบุญมันมีจริงหรือเปล่า เราเคยกล้าพิสูจน์เข้าไปไหม เคยไหม มันเป็นอะไรที่มืดบอด เป็นอะไรที่เราไม่รู้จัก นี่ไงเรียกว่า จิตยังมีความมืดบอด มันไม่เคยตื่นรู้

เพราะฉะนั้น เราก็ถามคำถามปัจจุบัน คนที่เคยภาวนา ถามง่ายๆ ว่า ทำไมฉันภาวนา เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยต่างกันเลย มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม วันแรกๆ นี่นั่งตัวตรงเลยพอไปสักวันที่ ๕ เริ่มสัปหงก นั่งไม่ได้เลย แสดงว่าวิธีการภาวนามันไม่ถูก

สิ่งที่ควรจะต้องรู้เสียก่อนก็คือ

อันดับแรก อะไรคือกาย อะไรคือจิต

อันดับที่สอง จะรู้จักจิต ให้จิตกับกายแยกออกจากกันได้อย่างไร

ทุกวันนี้จิตกับกายไม่เคยแยกจากกัน ถ้าจิตกับกายแยกออกจากกันได้ เราก็จะรู้จักจิต แล้วก็จะไม่หลงคำว่า จิต

อุบายที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ก็คือ ลมหายใจ ลมตั้งอยู่ข้างหน้า จิตเป็นผู้เฝ้าดูความคิดของสมอง

ความคิดของสมองคืออะไร เราก็มีความคิดทุกวันใช่ไหม แต่ทำไมเราเข้าไปอยู่ในความคิด และเป็นอารมณ์แห่งความคิด เราไม่เคยดูว่าจิตคือใคร ตรงนี้เราจะมาฝึกพร้อมกันว่าจิตคือใคร

หลักง่ายๆ ทุกคนลองหลับตา แล้วคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทุกคนจำได้นะ ท่านใส่ชุดเหลือง ยืนที่หน้าต่าง ยืนโบกมือให้พวกเรา ลองหลับตาสิ เห็นไหม เห็นภาพในสมองไหม

เห็นใช่ไหม คำถามง่ายๆ ภาพในสมองนั่นคือความคิดของเรา ความจำของเรา ใช่ไหม แต่ผู้เห็นคือใคร ลองหลับตาแล้วเห็นภาพในสมองไหม

(หยุดนิ่งประมาณ ๕ วินาที)

นั่นคือตัวจิต

ทีนี้เห็นนานเข้าก็เฝ้าดูความละเอียด เห็นในหลวงทำท่าโบกมือนั่นคือความจำ ยิ้ม ใส่แว่น ยืนอยู่ตรงช่องหน้าต่าง เราเห็น และดู พร้อมกันใช่ไหม ทั้งเห็นทั้งดู ใช่หรือเปล่า

(หยุดนิ่งไปประมาณ ๑๐ วินาที)

นั่นใช่ไหม เราเห็น แล้วเราก็รู้สึก รู้สึกที่เราดู เรารู้สึกรักในหลวงใช่ไหม เรารู้สึกผูกพันกับท่านใช่ไหม อาการรู้สึกในขณะที่เราดูและเห็นนั้นก็คือตัวจิตนั่นเอง จิตเป็นของที่หาไม่ยากเลย

เอาล่ะ ลองเปลี่ยนภาพ ลองหลับตาแล้วคิดถึงคนที่เรารักที่สุด คนที่มีลูกก็คิดถึงลูก คนที่มีสามีก็คิดถึงสามี คนที่มีภรรยาก็คิดถึงภรรยา คนที่มีพ่อแม่อยู่หรือไม่อยู่ก็ตามลองคิดดูสิ รูปคนๆ นั้นจะปรากฏขึ้นในสมองของเรา

ใครเป็นผู้เห็นภาพนั้น ใครเป็นผู้ดูภาพนั้น ใครเป็นผู้รู้สึกต่อภาพนั้น

(หยุดนิ่งไปอีกประมาณ ๑๐ วินาที)

ทีนี้ลองเปลี่ยนภาพ ลองหลับตา แล้วคิดถึงงูเขียวสักตัวกำลังเลื้อยมาหาเรา เห็นภาพงูเขียวไหม หรือภาพตุ๊กแกก็ได้ รู้สึกเป็นอย่างไร ขยะแขยงใช่ไหม รังเกียจใช่ไหม

รู้สึกเป็นอย่างไร เห็นงู เห็นตุ๊กแก แล้วรู้สึกอย่างไร

สังเกตไหม ขณะที่เราดู แล้วเห็นภาพตุ๊กแกในสมองเรา อ้าปากแดง ขึ้นมา เรารู้สึกเป็นอย่างไร ลองคิดว่าเราเอามือเข้าไปจับสิ กล้าไหม ทั้งๆ ที่เป็นความคิดของเราเองนะ กล้าไหม ลองคิดถึงตุ๊กแกตัวใหญ่ ยาวประมาณฟุตหนึ่ง อ้าปากแดง แล้วคิดนะ คิดว่าเราเอามือของเราเข้าไปจับ ลองพยายามฝืนเข้าไปจับสิ เป็นอย่างไร รู้สึกเป็นอย่างไร

กล้าจับไหม (เสียงคนฟังพูดขึ้นว่า ไม่กล้า)

รู้สึกเป็นอย่างไร (เสียงคนฟังพูดว่า รังเกียจ) รังเกียจใช่ไหม

นั่นแหละ ความรู้สึกของจิต

ถามว่า สิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราไหม ทุกวันใช่ไหม

ผู้ดู ผู้เห็น ภาพในสมอง ตัวนั้นแหละ เรียกว่า จิต จิตเป็นของหาไม่ยากเลย

ลองคิดถึง วิธีที่เราเคยทำมา พุทโธๆ กับใช้วิธีดูแบบนี้ อย่างไหนง่าย

เอาง่ายๆ ทุกคนมีแบงค์พันตั้งอยู่ข้างหน้า สิบกองเท่ากับหนึ่งล้านบาท รู้สึกเป็นอย่างไร รู้สึกมีความเป็นเจ้าของ เป็นของตัวเอง ใช่ไหม

ลองเอามือไปจับสิ ต่างกับตุ๊กแกเมื่อกี้ไหม ต่างกันไหม (เสียงคนฟังพูดว่าต่างกัน)

ทำไมอันนั้นจับได้ แต่ตุ๊กแกจับไม่ได้ ความรู้สึกต่างไปไหม

เอาล่ะ ดูดีๆ นะ แล้วอยู่ๆ ก็มีไฟตกลงไปที่กองธนบัตรนั้น แล้วไฟลุกขึ้นมา เงินเรานะ เป็นอย่างไร (เสียงคนฟังพูดขึ้นว่า รู้สึกเสียดาย)

รู้สึกเสียดาย เห็นไหม อารมณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ นี่คือ อารมณ์ของจิต เขาเรียกว่า ภพ ของจิต นั่นคืออารมณ์ ความรู้สึกของจิต เห็นหรือยัง

แล้วตัวจิตที่แท้จริงอยู่ตรงไหน

ตัวจิตที่แท้จริงคือ ก็ตัวผู้เฝ้าดู เฝ้าดูความรู้สึกของมัน ผู้ดู กับผู้เห็น กับสติที่ควบคุม นั่นแหละคือตัวจิตที่แท้จริง จิตผู้เฝ้าดู จิตผู้เห็น สติ

เฝ้าดูอะไร เฝ้าดูความรู้สึก นั่นคืออารมณ์ของจิต เข้าใจง่ายไหม

ถ้าเรารู้จักตรงนี้ มันมีวิธีฝึก สำหรับคนที่มีภาพในสมองจากความคิด เราก็กลับไปที่พุทโธ ลองหลับตาแล้วคิดคำว่า พุทโธ ช้าๆ ลองคิดสิ พุทโธ แทนภาพในสมองเมื่อกี้นี้ ให้เห็นเป็นตัวหนังสือวิ่งไปในสมอง

(หยุดนิ่งเงียบไปประมาณ ๕ นาที ให้คนฟังได้หลับตาทำตาม)

เห็นไหม พุทโธ วิ่งอยู่ในสมอง ตัวหนังสือ เห็นไหม

ใครเป็นคนเห็น ก็คือคนเดียวกันกับที่เห็นภาพต่างๆ ที่พูดมาใช่ไหม

ใครเป็นคนดู ก็คือคนเดียวกัน ใครเป็นคนรู้สึก ก็คนเดียวกัน

เราก็จะแยกระหว่าง จิตผู้เฝ้าดู กับ จิตผู้เฝ้าเห็น กับอารมณ์ที่เกิดจากการดูกับการเห็นออกจากกัน

เมื่อกี้เราพูดถึงอารมณ์ใช่ไหม อารมณ์ของจิต กับผู้เฝ้าดูอารมณ์

ผู้เฝ้าดูอารมณ์ กับผู้เห็นอารมณ์นั่นคือตัวจิต แต่อารมณ์ สุข ทุกข์ รังเกียจ นั่นคืออารมณ์ของจิต เช่นว่า ความรู้สึก ตัวนี้ไม่ใช่สมอง ตัวนี้คือตัวจิต

เอาล่ะ เราจะประยุกต์มาใช้อย่างไรในชีวิตประจำวัน จะฝึกอย่างไรให้เกิดความตื่นอย่างนี้ ก็ฝึกแบบง่ายๆ อย่างนี้แหละ ก็คือ อันดับแรกเราก็จับผู้ดู กับผู้เห็น กับสติ มาดูความรู้สึกตัว เอ้า ลองดูสิ

การดูความรู้สึกตัวนี่ทำอย่างไร เอาง่ายๆ เรารู้สึกว่าเรานั่งอยู่ไหม หลับตาแล้วรู้สึกว่าเรานั่งอยู่ไหม รู้สึกว่าทั้งกายของเรานี้มีอยู่ไหม มีอยู่นะ เรามีความรู้สึกอยู่ในกายไหม รู้สึกว่ามีกายของเราอยู่ใช่ไหม แล้วนั่งอยู่นี่เจ็บขา เจ็บก้นกับความรู้สึกที่มีกายนี่ต่างกันไหม ต่างกันหรือเปล่า

นี่เวลานี้ ทุกคนนั่งตอนนี้ต้องเจ็บก้น เจ็บขา เจ็บคอ เมื่อยคอ เมื่อยไหล่ กับความรู้สึกทั้งตัว ความรู้สึกตัวนี่ไม่เจ็บเลย ชัดเจนไหม แยกกันได้ไหม ระหว่างความรู้สึกตัวกับความเจ็บที่ก้นเรา ที่ขาเรา เมื่อยคอ เมื่อยไหล่
แยกความรู้สึกตัวกับความเจ็บออกจากกันได้ไหม โดยที่ผู้ดูของเราคือคนเดิม เฝ้าดูอยู่ที่เดิม

คนที่ไม่เห็นภาพในสมอง เมื่อกี้ดูความรู้สึกตัวได้ไหม ได้ใช่ไหม ดูความเจ็บได้ไหม ดูความเมื่อยได้ไหม แยกความรู้สึกตัวกับความเจ็บได้ไหม

(หยุดนิ่งไปประมาณ ๕ นาที เพื่อให้คนฟังได้ทดลองทำ)

ลองดูทีละคนสิ เห็นไหม เห็นความรู้สึกตัว และเห็นความเจ็บที่แยกออกไป แยกได้ไหม ถ้าเราดูอย่างนี้เป็น ต้องฝึก ผู้ดู ผู้เห็น และความเจ็บ ความรู้สึกตัว ผู้ดูไม่เคยอยู่ที่กาย

ในขณะที่เราดูกาย เรารู้สึกว่ากายนี่เป็นเราไหม เราถือว่าร่างกายที่รู้สึกนี้คือตัวเราไหม ที่ความรู้สึกของผู้ดู รู้สึกไหม เอ้า ดูใหม่นะ ดูความรู้สึกทั้งตัวนะ แล้วเฝ้าดูความรู้สึกตัว เราดูความเจ็บ แล้วดูความรู้สึกของผู้ดู เหมือนกับความรู้สึกโกรธ หรือความไม่พอใจเมื่อกี้ ก็คือความรู้สึกว่ากายนี้เป็นตัวเราไหม

ทีนี้ สติ คืออะไร

สติ คือ ตัวผู้คุมอาการเฝ้าดูกับเฝ้าเห็นความรู้สึกตัวนั้นไม่ให้วอกแวกไปที่อื่น และให้ระลึกรู้ต่อความรู้สึกตัวทั่วตัว

เห็นไหม ความรู้สึกตัวทั่วตัวนั้น คือสิ่งที่เราระลึกรู้ และรู้สึกไหมว่าขณะที่รู้สึกนั้นก็คือตัวเรา รู้สึกว่ากายนี้เป็นของเรา มีใครรู้สึกบ้างว่ากายนี้ไม่ใช่ของเรา รู้สึกไหมว่าความเจ็บปวดนี้คือตัวเรา เรารู้สึกที่จิตผู้เฝ้าดูใช่ไหม ว่ามันมีความเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดอยู่ที่กายนะ จิตของเรามันเฝ้าดูรู้สึกเจ็บไหม ผู้เฝ้าดูรู้สึกในอาการเจ็บไหม

ถ้าเราไม่เจ็บไปตามร่างกาย ความรู้สึกไม่เจ็บ รู้สึกสบายๆ กายก็เจ็บนะ นั่นแหละคือการแยกจิตออกจากกาย

ทบทวนช้าๆ นะ ขณะที่เรากำลังมีผู้เฝ้าดูเฝ้าเห็นความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เราก็อยู่ที่ผู้เฝ้าดูเฝ้าเห็นนั้น ดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ขณะที่เรานั่ง เรามีความเจ็บปวดที่ขา ที่ก้น ที่คอ ที่ไหล่ เมื่อย เราดู เราเห็นความรู้สึกตัวไหม

ถ้าเราดู เราจะเห็นว่าความรู้สึกตัวมีทั่วตัวเรา แต่ความเจ็บมีเฉพาะจุดใช่ไหม

เพราะความเจ็บเป็นเรื่องของร่างกาย แต่จิตผู้เฝ้าดูไม่เจ็บ กายของเรานี้เจ็บ เดี๋ยวก็หาย แต่ความรู้สึกตัวจะไม่หายไป ความรู้สึกตัวจะมีตลอดเวลา แต่ความเจ็บปวดนั้น เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ดับ

แต่ความรู้สึกตัวยังคงมีตลอดเวลา

ถ้าทุกคนดูอย่างนี้เป็น โดยสั้นๆ คือ ผู้ดู ผู้เห็น ให้ฝึกอย่างนี้ทุกวันเราก็จะสามารถแยกจิตกับกาย กับสติ ได้อย่างง่ายดาย

ความรู้สึกตัวนี้คือกาย ความเจ็บปวดนี้คือกาย ผู้เฝ้าดู เฝ้าเห็นนี่คือตัวจิต มีสติคุมไว้อย่าให้วอกแวกไปที่อื่น บางทีความคิดมันปรากฏขึ้นก็คอยจะวิ่งเข้าไปในความคิดอีกนั่นแหละ ถ้าเราไม่ดูความรู้สึกตัว จิตของเราจะกลายเป็นความคิด แต่ถ้าดูความรู้สึกตัวไป เราเห็นความคิด เราจะไม่เป็นความคิดนั้น เราจะเห็นความคิดเกิดดับเหมือนกับความเจ็บปวดทางร่างกาย

ฐานที่เราจะฝึกมันมีไม่กี่ฐาน

  • ความรู้สึกตัว
  • ความเจ็บปวดที่เกิดดับ
  • ความคิดที่เกิดกับ
  • ลมหายใจที่เกิดดับ

นอกเหนือจากนี้มีอะไรให้ดูได้บ้าง ถ้าเราตั้งอยู่ที่ ผู้ดู ผู้เห็น เราเห็นลมหายใจเข้าออกไหม เราเห็นความคิดไหม เราเห็นความเจ็บปวดไหม เราเห็นความรู้สึกตัวไหม นอกเหนือจากนี้มีอย่างอื่นไหม

อารมณ์ อารมณ์ของผู้เฝ้าดู เช่น นั่งนานๆ เข้าก็คิดว่า เมื่อไรจะเลิกเสียที บางคนก็ เฮ้อ ไม่เห็นได้อะไรเลย นี่คืออารมณ์ อารมณ์ที่เกิดจากความคิดใช่ไหม บางคนก็สงบ มีอารมณ์สงบ บางคนรู้สึกว่ามันมีแสงสว่างขึ้น บางคนก็มีความสุข

นั่นคืออารมณ์ของจิต ตอนนี้แยกเป็นแล้วใช่ไหม ว่าอารมณ์ของผู้เฝ้าดู กับร่างกายมันแยกจากกันอย่างไร ร่างกายมีอะไรบ้างที่เฝ้าดู

  • ความรู้สึกตัว
  • ความเจ็บปวด
  • ความคิดที่ปรากฏในสมอง
  • ลมหายใจ

ส่วนอารมณ์ที่เกิดจากสิ่งที่เราดู มันก็ไม่ได้ต่างจากตุ๊กแกที่เราดูเมื่อกี้ เรารู้สึกว่าอารมณ์เห็นตุ๊กแกแล้วกลัว ขยะแขยง อารมณ์กลัวนั้นคืออารมณ์ที่เกิดจากภาพใช่หรือเปล่า ตอนนี้แยกกันได้แล้วใช่ไหมว่า อารมณ์ ผู้เฝ้าดู ก็คือตัวจิต อารมณ์ก็คือสิ่งที่เกิดจากการรับรู้

เรารับรู้กี่อย่าง เรารับรู้ข้างนอก ก็คือความรู้สึกตัว เรารู้สึกถึงความเจ็บปวด เรารับรู้ถึงความคิด ได้ยินเสียงแอร์ไหม นั่นคือเสียงข้างนอกใช่ไหม เสียงแมลง
ได้ยินไหม นั่นคืออารมณ์ที่รับรู้โดยผ่านหูเข้ามา นอกเหนือจากนี้มีอะไรอีก และเมื่อเราหลับตา เราก็มีแต่สิ่งเหล่านี้ที่เรารับรู้ผ่านกายเข้ามา นี่คือปรากฏการณ์ของร่างกาย มีผู้เฝ้าดู ผู้เห็น ที่ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่อารมณ์นั่นแหละคือความรู้สึกของจิต

แต่ตัวดูตัวเองมีความรู้สึกไหม ผู้ดู ผู้เห็น มีความรู้สึกไหม ดูก็คือดูใช่ไหม ความรู้สึกก็คือความรู้สึกใช่ไหม นั่นแหละ ความรู้สึกของจิตคืออารมณ์ แต่ดูกับเห็นไม่ใช่ตัวจิต มองเห็นหรือยังว่ามันต่างกันอย่างไร

พอมีความคิดแล้วก็จะมีอารมณ์ อารมณ์บางอย่างคือความจำ แต่ความรู้สึกต่ออารมณ์นั้น เช่น ความโกรธ ถ้าแยกให้ละเอียดลงไป ความรู้สึกรับรู้ต่อความโกรธที่เกิดจากความคิดนั้นเป็น สัญญาอารมณ์ ของคนเรา ตอนนี้เรากำลังฝึกเบื้องต้น ฝึกอย่างนี้ก่อน

นั่นแหละคือวิธีฝึกให้เห็นจิตกับเห็นกาย

มันต่างกับพุทโธที่เราฝึกมาไหม พุทโธๆ กับการนั่งเฝ้าดูแบบนี้

(เสียงพูดจากคนฟังว่าวิธีนี้ดีกว่า)

ทำให้รู้จักจิตด้วย รู้จักอารมณ์ของจิตด้วยใช่ไหม เอาล่ะ ทีนี้เราฝึกต่อไป ให้มองคนข้างๆ คงรู้จักกันนะ มองหน้ากันนะ ให้เอามือของเราจับมือคนข้างๆ ให้ตั้งอยู่ที่ผู้ดูก่อนนะ ดูความรู้สึกตัวเสียก่อน แล้วจึงใช้มือจับคนข้างๆ ขณะที่เรากำลังดูความรู้สึกตัวนั้น เอามือไปจับคนข้างๆ ลองทำ

(คนฟังทำตาม)

ปล่อย แล้วก็จับใหม่ โดยยังดูความรู้สึกตัว เป็นอย่างไร

คนที่นั่งข้างๆ รู้จักใช่ไหม มีความรู้สึกผูกพันไหม (เสียงตอบว่ารู้สึก) นั่นแหละความรู้สึกผูกพัน บางคนมีอารมณ์ที่ต่างกัน ทันทีที่จับ รู้สึกไม่ชอบมีไหม

ตอนนี้ยังไม่ให้ใช้ตา ให้ใช้แต่สัมผัส รู้สึกไหมว่าเมื่อเราสัมผัสคนข้างๆ แล้วรู้สึกอย่างไร เอ้า เมื่อกี้เราจับคนทางซ้ายใช่ไหม ลองเปลี่ยนไปจับอีกคนหนึ่งสิ ความรู้สึกต่างกันไหม

ลองจับดู จับสลับกันไปมา จะเห็นความรู้สึกที่ต่างกัน

คนที่ไม่รู้จักกันเราไปจับรู้สึกเป็นอย่างไร คนที่รู้จักเราจับแล้วรู้สึกอย่างไร จับทีละคนแล้วปล่อย แล้วจับอีกคนหนึ่ง

ใครเป็นคนแยกความรู้สึกนี้ ตัวรู้ใช่ไหม เห็นไหมความจำกับความรู้สึกของตัวรู้มันแยกกันเลย

นี่คือการเรียนรู้ธรรมชาติของจิต และการเรียนรู้ธรรมชาติของร่างกาย

มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ไม่ว่าจะเป็นชาติภาษาไหน เหมือนกันหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นชาวพุทธ ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติก็ขอให้ฝึกแบบนี้

เมื่อวานได้บอกไปแล้วว่า แค่เราดูความรู้สึกตัวเป็นเพียง ๑ นาที โดยแยกอย่างนี้ได้ดีกว่าไปสร้างเจดีย์อีก เชื่อไหม การสร้างเจดีย์นี่คือการส่งไปข้างนอก แล้วบุญอยู่ไหนก็ไม่รู้ แต่แบบนี้บุญใหญ่มาก เพราะรู้จักจิตของตัวเอง รู้จักอารมณ์ของจิต มีผู้เฝ้าดู รู้จักกายของตัวเอง

บุญ ไหม แล้วมันจะต่อไปตรงที่ว่า ถ้าเราดูบ่อยๆ เรารู้จักอารมณ์ รู้จักจิตผู้เฝ้าดู ต่อไปเมื่อมีอารมณ์มากระทบเราจะจับมันไว้ไหม อารมณ์แบบนี้ไม่ดีเราก็ทิ้งสิ ทิ้งเป็น เหมือนไฟร้อน

ต่อไปจากนี้คนที่ขี้โกรธก็จะกลายเป็นคนที่ไม่โกรธ เพราะรู้จักรู้เท่าทันความโกรธ พอเข้าใจตรงนี้ เราก็รู้จักดูอารมณ์แล้ว

นั่นไง เรารู้จักจิตผู้เฝ้าดู เห็นไหม คนที่เฝ้าดูมีอารมณ์ไหม คนเฝ้าดู ไม่มีอารมณ์ แต่จิตรับรู้จึงมีอารมณ์ที่ผู้รับรู้ แต่ผู้เฝ้าดู คือตัวปัญญาไม่มีอารมณ์

วิธีการดูความรู้สึกตัวนี้ มีข้อห้ามอยู่ข้อเดียว คือห้ามดูขณะขับรถอยู่ เพราะมันจะชน อย่างอื่นไม่ห้าม ทำได้หมด พยายามฝึกให้ได้วันละครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง พอฝึกเป็นแยกผู้รู้เป็น ต่อไปฝึกได้ตลอดเวลา ทำงานก็ดูเป็น แล้วเราจะมีความตื่นรู้อยู่ภายใน นั่นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เป็นวิธีของพระพุทธเจ้า

เชื่อไหมว่าเป็นวิธีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพูดว่าอย่างไร

“เธอทั้งหลายพึงมีสติ ระลึกรู้” เห็นไหม คำพูดแรกเลย

“เธอพึงมีสติ ระลึกรู้” ก็คือ ความรู้สึกตรงนี้ “เฝ้าดู” เห็นไหม

“เฝ้าเห็น ลมหายใจที่เข้าออก” เห็นไหม คำพูดของท่าน

“เธอทั้งหลายพึงมีสติ ระลึกรู้ เฝ้าดู เฝ้าเห็น ลมหายใจที่เข้าออก”

ท่านไม่ได้บอกให้เข้าไปอยู่ในลมนะ ท่านให้ระลึกรู้ลมที่เข้าออก แล้วเฝ้าดูลมที่เข้าออก และเห็นลมที่เข้าออก เอ้า ลองทำสิ ๕ นาที ระลึกรู้ เฝ้าดูเฝ้าเห็น แล้วดูลมเข้าออกสิ อย่าไปกำหนดลมนะ ให้ลมเข้าออกตามธรรมชาติ แต่เราตั้งอยู่ที่ผู้เฝ้ารู้ เฝ้าดู เฝ้าเห็น ตรงฐานเมื่อกี้

(๕ นาทีผ่านไป)

มองเห็น ๒ อย่างต่างกันไหม ลม เข้า ออก เกิด ดับใช่ไหม ความรู้สึกตัวเกิดดับไหม ความรู้สึกตัวนั้นอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไหว

เพราะฉะนั้น เมื่อเราลงในการปฏิบัติ เราจะรู้สึก สิ่งที่เคลื่อนไหว กับสิ่งที่ไม่เคลื่อนไหว

ความรู้สึกตัวนี่จะไม่เคลื่อนไหว แต่สิ่งที่เคลื่อนไหวคือลมหายใจ สิ่งที่เคลื่อนไหวคือสิ่งที่ถูกรู้ จิตคือผู้รับรู้ ถ้าสติคุมตัวดูไม่ได้ ตัวดูก็จะเคลื่อนไหวเหมือนกับตัวรับรู้ ถ้าเราเข้าใจตรรกะตัวนี้ เข้าใจความหมายตัวนี้ การปฏิบัติธรรมไม่ยากเลย

พระพุทธเจ้าพูดต่อไปว่า “เธอทั้งหลาย พึงมีสติระลึกรู้ตั้งมั่นที่รู้แล้ว เฝ้าดู เฝ้าเห็นลมหายใจแล้ว ให้เธอดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อม” เห็นไหม ให้ละลมหายใจนั้นไปดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เมื่อดูความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทางกายเป็นแล้ว ก็ให้กลับมาดูความรู้สึกของตัวทั่วพร้อมของจิต ความรู้สึกของจิตคืออารมณ์

ให้สลับไปดูความรู้สึกตัวทางกายเสร็จ ก็กลับมาดูความรู้สึกตัวของจิตรู้ ความรู้สึกของรู้คืออารมณ์

เห็นไหม มองออกหรือยัง ว่าอันหนึ่งเราเอาจิตของเราไปเฝ้าดูความรู้สึกตัว เราเห็นความรู้สึกตัวนิ่งอยู่ มีความเคลื่อนไหวคือลมหายใจ แล้วเราเห็นความรู้สึกของจิต ความรู้สึกของรู้ ดูอย่างนี้

ส่วนความคิด เราเห็น แต่ในขั้นนี้เราไม่เข้าไปในความคิด ขอให้จิตตั้งมั่นเสียก่อน แล้วต่อไปเราจะเห็นความคิดเกิดดับ เห็นไหม ถ้าเราแยกได้ นี่คือพื้นฐานของการฝึกในการที่จะเข้าถึงตัวจิตของเรา ถ้าเราเข้าใจว่าจิตอยู่ตรงไหน กิริยาของจิต คือ ดู เห็น รู้ มีสติคุมอยู่ นั่นแหละเราจะเข้าสู่ความตื่นรู้ภายใน นี่คือวิธี

พุทโธ ก็คือความคิดเกิดดับใช่ไหม ลมหายใจก็คือสิ่งที่เกิดดับ ความรู้สึกตัวเกิดดับไหม

ตัวดู ตัวรู้ ตัวเห็น ถ้ามีสติคุมอยู่ก็ไม่ดับ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความรู้สึกของจิตนั่นเอง

เราฝึกไปทำไม เหตุผลแรกก็คือ ฝึกให้รู้จักกายกับจิต

พอฝึกหนักเข้า ชำนาญเข้า เราจะเข้าสู่ความตื่นรู้ พอเราเข้าสู่ความตื่นรู้แล้ว เราก็สามารถเฝ้าดูความคิดได้ทั้งวัน สามารถเห็นอารมณ์ได้ทั้งวัน แล้วเราก็จะเห็นความรู้สึกของจิตได้ทั้งวัน

ถ้าฝึกอย่างนี้ได้ เราจะเป็นอิสระจากอารมณ์ เป้าหมายคือเป็นอิสระจากอารมณ์ ถ้าเราเป็นอิสระจากความสุข ความทุกข์ ความอยาก ความหงุดหงิด ความโกรธ ถ้าเราเป็นอย่างนี้ได้เราก็สบาย

ถามว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ได้โลกจะเจริญไหม ทุกคนยังต้องทำงานอยู่ แต่ทำงานด้วยสติที่ดีขึ้น การเฝ้าดูอารมณ์ ไม่เป็นทาสของอารมณ์ ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้นไหม แล้วเราก็อยู่กันแบบสันติสุข นี่คือเบื้องแรกที่ต้องการ แค่นั้นพอ อย่าเพิ่งพูดถึงการละกิเลสอะไรเลย ขอให้ตัดอารมณ์ก่อน นี่คือเบื้องแรกที่เราต้องฝึกให้ถูก เดินให้ตรง ตรงเข้าหาจิตของเรา

เดินเข้าหาจิตได้ เราก็จะรู้จักอารมณ์ของตน รู้จักอารมณ์ของจิต ไม่เป็นทาสของอารมณ์ คนในบ้านมีความสุขไหม ถ้าทุกคนไม่เอาอารมณ์ใส่กัน ทุกคนก็อยู่กันแบบมีสติ โกรธก็มี แต่ไม่เป็นอารมณ์ของโกรธ เห็นความโกรธแล้วทิ้งมันไป เหมือนไฟ นั่นแหละ คือการฝึก ขอให้ฝึกทุกวัน อย่าฝึกเฉพาะที่นั่งตรงนี้

ฝึกแบบนี้มีประโยชน์มาก ในเวลาที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะมีสติ แล้วเราจะไม่ตกใจ และเมื่อเราจะตายเราก็จะมีสติ นี่คือเป้าหมาย ส่วนการจะเดินเข้าสู่ปัญญาที่ลึกลงไป ถ้าเดินตรงนี้เป็น เราจะค่อยๆ เห็นด้วยตัวเราเอง ว่าอะไรคือกิเลส อะไรคือความกลัว อะไรคือความโลภ อะไรที่มันซ่อนอยู่ในจิตของเรา นั่นคือตัวปัญญาที่จะค่อยๆ รู้จักลึกลงไป ลึกลงไปแล้วจะค่อยๆ ละเป็น แต่ในเบื้องต้นขอให้รู้จักสิ่งเหล่านี้เสียก่อน เพื่อจะได้รู้จักธรรมชาติของจิต รู้จักธรรมชาติของกาย

ธรรมชาติของกายมีประตูอยู่ ๕ ประตู เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ธรรมชาติของกาย คือความรู้สึกตัว ความเจ็บปวด ความคิด นึก

ลองคิดช้าๆ อะไรที่ใหญ่สุดในหัวข้อที่พูดมานี้

ความคิด ความคิดนี่เร็วมาก เรามักจะจมอยู่ในความคิดโดยที่เราไม่เคยดูความคิด เมื่อกี้นี้หัดดูความคิดเป็น นั่นแหละ การดูความคิดเป็นย่อมไม่เป็นทาสของความคิด เมื่อไม่เป็นทาสของความคิด ก็ไม่เป็นทาสของอารมณ์

ถามว่า ถ้าไม่ใช้ความคิดจะปลูกผักอย่างไร ไม่ใช้ความคิดจะทำทองได้อย่างไร

เราต้องอาศัยความคิด แต่เราต้องไม่จมลงไปในความคิด ต้องรู้จักออกจากความคิด สิ่งนี้จะใช้เมื่อไร ใช้เมื่อเราจะตาย เวลาที่จะตาย ถ้าออกจากความคิดไม่เป็น นั่นคือโศกนาฏกรรม

เพราะเราจะหลงอยู่ในมายาภาพของสมอง และเราก็จะเป็นสิ่งนั้นตลอดกาล แต่ถ้าเราเฝ้าดูความคิดเหมือนเรานั่งเฝ้าดูหนัง ดูความฝัน โดยไม่เข้าไปอยู่ในมัน ตรงนั้นเรียกว่า ตายเป็น แต่ถ้าออกจากความคิดไม่เป็น นั่นเรียกว่า ตายไม่เป็น

ไม่ต้องพูดถึงการละกิเลส พูดถึงการเฝ้าดูความคิดให้เป็น ก่อนที่จะตาย โดยที่ไม่เป็นทาสของความคิด ทาสของอารมณ์ที่เกิดจากความคิด เรียกว่า ตายเป็น เพราะฉะนั้น ใน ๕-๖ ฐานที่พูดมานี้ ฐานความคิดและความรู้สึกเป็นฐานที่ยากที่สุด ฐานที่รองลงมาคือความเจ็บปวด

คนเราจะตายนี่เจ็บ พอขึ้นนอนบนเตียงและเรากำลังจะตาย อันดับแรกคือหัวใจจะหยุดเต้น ลมหายใจจะหายไป เราพยายามหายใจเท่าไรมันก็ไม่เข้า ตกใจไหม หายใจมาตลอดชีวิต ทำไมหายใจไม่เข้า หมอต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพราะปอดไม่ยอมทำงาน และพอหัวใจจะหยุดเต้น เกิดมือเท้าเย็น มือเท้าเย็นหมด แล้วจะมีความหนาวเหน็บเข้ามา แล้วก็จะเกิดความมืดเข้ามา กลัว ใครเคยเห็นปรากฏการณ์นี้บ้าง

(ผู้ฟังหัวเราะ มีเสียงคนหนึ่งพูดว่าเคย ตอนที่เป็นโรคหอบหืดมาก)

เห็นไหม อารมณ์กลัวเกิดขึ้น เราต้องมีสติ เราต้องออกจากอารมณ์กลัวอย่างนั้น ต้องฝึก ถ้าเราไม่เตรียมตัว วันที่ตาย จะตายแบบตะลีตะลานที่สุด เพราะทันทีที่หัวใจหยุดเต้น เราก็จะเกิดความคิดมากมายในสมอง และพอความคิดในสมองหยุด เราก็จะถอดรูปออกมาเป็นรูปถอดของเรา เรียกว่ารูปทิพย์ หรือ กายทิพย์ เหมือนเงาในกระจก

อันดับแรก กลับบ้าน อยู่ที่ไหนก็ขอกลับบ้าน เพราะความห่วงหาอาลัย พอไปถึงบ้าน ไปทักทายเขา เขาไม่พูดด้วย โกรธคนที่บ้าน นี่เธอเป็นอะไร ฉันคุยด้วยไม่มองหน้าฉันเลย ตอนเป็นผีคุยกับใครเขาไม่คุยด้วย หงุดหงิดแล้วก็โกรธ ลืมไปว่าตัวเองตายแล้ว เราเห็นเขาแต่เขาไม่เห็นเรา

นั่นแหละคือปัญหา หลังจากนั้นหนักเข้าไปอีก เราได้ยินเขาพูด แล้วเขานินทาเรา โกรธไหม ตอนอยู่เราไม่เคยได้ยินมันนินทา คนนี้เรารักมันจะตาย แต่มันพูดว่า น่าจะตายตั้งนานแล้ว สมบัตินี่มันสร้างไว้ตั้งเยอะเรามาแบ่งกันเถอะ โกรธไหม

รู้สึกเป็นอย่างไร นี่แหละคือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตนี้แน่นอน ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราควรจะทำอย่างไร

ควรฝึก ฝึกให้ได้ ฝึกให้รู้เท่ารู้ทันความคิด ไม่เข้าไปเป็นความคิดนั้น เมื่อเรารู้เท่ารู้ทันความคิด เราก็ไม่เป็นอารมณ์ของความคิดนั้น นี่คือชีวิตประจำวันเลย

รู้เท่ารู้ทันความเจ็บปวด เมื่อเราเจ็บปวดจะตายเราจะไม่เข้าไปเป็นมัน

รู้เท่ารู้ทันลมหายใจ เข้าแล้วไม่ออก อึดอัด กลัวตายไหม รับรองกลัวทุกคน พอหายใจเข้าแล้วหายใจออกยาก คิดถึงหมอก่อน หมอคือพระเจ้า พาไปหาหมอหน่อย

ทุกอย่างนี้คือวงจรที่ทุกคนจะต้องเจอ นี่คือประโยชน์ของการฝึกรู้จักตัวเอง รู้จักกายรู้จักจิตตัวเอง ใครก็ฝึกแทนไม่ได้ ต้องฝึกตัวเองและเตรียมตัว

สิ่งนี้ฝึกแล้วทางโลกก็เจริญ เจริญขึ้นเพราะเรามีสติ เรารู้จักยั้งคิดแล้วเราจะไม่เสียหาย เมื่อก่อนทำธุรกิจอยู่ก็เหมือนพวกเรา ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ แล้วก็ไม่เสียหาย มีความคิดที่จะพัฒนาไปข้างหน้าได้ เพราะเรารู้จักวิเคราะห์ด้วยปัญญา

อย่าคิดว่านั่งหลับตาแล้วจะเกิดประโยชน์ ไม่เกิดประโยชน์ แต่การตื่นรู้แบบนี้เกิดประโยชน์ทั้งทางโลก และเกิดประโยชน์ทั้งทางธรรม

วันนี้ได้สรุปวิธีที่ลัดที่สุด ง่ายที่สุดให้แล้ว และที่ยกมานี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าในหมวดอานาปานสติ ไปอ่านได้ “เธอทั้งหลายพึงมีสติ ระลึกรู้เฝ้าดู เฝ้าเห็น” เห็นไหม ๔ ตัว สติ ระลึกรู้ เฝ้าดู เฝ้าเห็น ปรากฏการณ์ที่อยู่ข้างหน้า คือ ลมหายใจ ความรู้สึกตัว ความเจ็บปวด ความคิด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่คือปรากฏการณ์ที่เรารับรู้ด้วยจิต ถ้าเราฝึกอย่างนี้เราก็จะแยกจิตกับกายได้อย่างง่ายๆ และไม่ต้องเสียเงินสักบาท นี่คือบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บุญที่ตัวเองสร้าง เรียกว่า บำเพ็ญบุญ