ผู้เจริญกรรมฐานในร่างกายของตนนี้ ก็เหมือนกับผู้ลงเรือจะข้ามแม่น้ำไปสู่ฝั่งโน้น ฝั่งอันเกษม คือพระนิพพานพ้นโลกได้ แต่ถ้าเป็นผู้ขี้เกียจขี้คร้านเมามัว ไม่มีหวังเลย
อย่าไปหลงกรรมฐาน อย่าหลงหนทางพระนิพพานซี หนทางพระนิพพานคืออะไร “เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายอันนี้เป็นหนทางพระนิพพาน ไม่มีทางอื่น มีทางเดียวนี่” พระอริยเจ้าที่ท่านล่วงไปแล้ว คือท่านข้ามไปแล้ว ข้ามพ้นแอ่งแก่งกันดารนั้นแล้ว ท่านก็พิจารณากายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในกายอันนี้ แม้ท่านผู้ข้ามไปแล้ว ในอดีตหาประมาณมิได้ แม้ท่านผู้จะข้ามในอนาคตหาประมาณมิได้ก็ดี หรือแม้ท่านผู้อยู่ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ดี ต้องมาพิจารณากายนี้ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง”
กรรมฐานอันนี้ให้เห็นว่ากายของเรานี้ และของบุคคลอื่น ให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นของโสโครก ของบูดของเน่า ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ให้เห็นเป็นของมิใช่ตน ให้รู้เห็นตามเป็นจริงที่มันเป็นจริง ตามหลักธรรมชาติ ตามหลักสัจจธรรมที่มีอยู่ ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ มันก็สลัดได้เท่านั้นเอง
ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ (๑๐ กรกฎาคม ๒๔๖๓ - ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓) วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ นามเดิม จวน นรมาส ชาวจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นพระวิปัสสนากรรมฐานสายอีสาน ลูกศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ มีปัญญาว่องไวและอุบายธรรมเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร เบิกบานในธรรมอยู่เสมอ มีชื่อเสียงโด่งดังจากการสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นภูทอก เป็นที่เคารพรักของเหล่าเทวดาและสาธุชนทั้งหลาย
สมัยวัยรุ่น ท่านได้พบกับพระธุดงคกรรมฐานและได้อ่านหนังสือ “ไตรสรณคมน์” ของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม จนเกิดความศรัทธาในการภาวนาปฏิบัติ ท่านได้ปฏิบัติตามจนจิตรวมเป็นสมาธิ มีครั้งหนึ่งเห็นหญิงสาวสวยเดินผ่านหน้าบ้านไปถ่ายในป่าละเมาะทุกวัน ท่านเกิดจิตปฏิพัทธ์จึงใช้อุบายตามไปพิจารณาอุจจาระของหญิงสาวนั้น และปลงได้ว่าสภาพตามความเป็นจริงของร่างกายนั้นเป็นของไม่สวยไม่งาม เมื่อเรียนจบแล้ว ท่านก็เข้าไปทำงานในส่วนราชการอยู่ ๔ ปี ในช่วงนั้น ท่านได้อ่านหนังสือ “จตุราลักษณ์” ของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และได้พิจารณาในมรณานุสติจนเกิดความสลดสังเวชในชีวิต หลังจากนั้นท่านได้ลาออกจากงานและได้นำปัจจัยที่สะสมมาทั้งหมดถวายเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัด เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต จังหวัดอำนาจเจริญ หลังจากออกพรรษา ท่านก็สอบนักธรรมชั้นตรีได้ และปรารถนาที่จะออกธุดงค์ตามรอยครูบาอาจารย์ แต่เมื่อท่านไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนญัตติเป็นพระธรรมยุต ท่านจึงจำเป็นต้องลาสิกขาออกมาก่อน
เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ท่านได้อุปสมบทในฝ่ายอรัญวาสี ณ พัทธสีมาวัดสำราญนิเวศ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีพระครูทัศนวิสุทธิ เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นพระอาจารย์จวนได้มุ่งมั่นปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง หลายครั้งมีการอดหลับอดนอนผ่อนอาหารเพื่อให้จิตใจเบาสบายและเอื้อเฟื้อต่อการปฏิบัติ ในระหว่างการออกเดินธุดงค์ หากพบศพตามป่าช้า ท่านก็นำมาพิจารณาในอสุภกรรมฐานให้ใจคลายความกำหนัดจากกามคุณ ตั้งแต่ออกพรรษาที่ ๓ จนตลอดพรรษาที่ ๔ ท่านได้รับการอบรมธรรมจากหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร การปฏิบัติของท่านในช่วงนี้เน้นการพิจารณากายลงไตรลักษณ์และอสุภกรรมฐาน สลับกับการพักอยูในความสงบของสมาธิ จนจิตใจของท่านรวมลงได้อย่างรวดเร็ว และมีสติปัญญาเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
หลังจากหลวงปู่มั่นมรณภาพ พระอาจารย์จวนได้ออกติดตามไปปฏิบัติกับหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นเวลาหลายปี มีครั้งหนึ่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำพวง จังหวัดสกลนคร ท่านเกิดไปติดใจสาวคนหนึ่ง เวลาภาวนาจิตของท่านก็ไม่สงบ คิดถึงแต่ภาพสาวคนนี้ ท่านจึงใช้อุบายสอนให้ตัวเองละอายด้วยการนำกระดูกช้างมาร้อยเชือกแขวนคอไว้ตลอดเวลา บางครั้งท่านบ้วนน้ำหมากไปถูกกระดูกนั้นจนเป็นสีคล้ายเลือด ใครเห็นเข้าก็ว่าท่านเป็นบ้า เมื่อทรมานจิตจนกลับมาเป็นปกติได้จึงค่อยถอดกระดูกออก ซึ่งเป็นอุบายที่หลวงปู่ขาวชมเชยยิ่งนัก หลักจากนั้นท่านก็จาริกธุดงค์ไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ ทั้งถ้ำ เงื้อมผา ป่าดง และภูเขาในภาคอีสาน ต้องผจญสัตว์ร้าย โรคภัย และความไม่สงบของบ้านเมืองมากมาย แม้กระนั้นท่านก็ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค กลับมุ่งมั่นทำความเพียรเพื่อความเจริญในสมณธรรมอย่างเต็มกำลัง
ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ พระอาจารย์จวน ได้มาจำพรรษาที่ภูทอก และพัฒนาเป็นวัดเจติยาคีรีวิหาร ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นที่สัปปายะเหมาะแก่การทำความเพียรภาวนา ในช่วงแรกเหมือนพระเณรมาแย่งที่อยู่ของเทวดาประจำภู จึงพากันอาพาธและถูกรบกวนอยู่เสมอ ท่านก็พาพระเณรแผ่เมตตา เร่งภาวนาปฏิบัติ และรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จนวันหนึ่งท่านได้นิมิตว่าเหล่าเทวดาพากันมาถวายเขาลูกนี้ให้ พวกชาวบ้านหลายๆ คนก็ฝันอย่างนี้เหมือนกัน จากนั้นท่านจึงได้สร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สำคัญสำหรับการอยู่อาศัยและบำเพ็ญเพียร รวมถึงบันไดและสะพานขึ้นรอบภูทอก อันเป็นอัศจรรย์อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ในด้านการเผยแผ่ธรรม พระอาจารย์จวนอบรมสั่งสอนบรรดาสานุศิษย์ให้เกิดสัมมาทิฏฐิและสัมมาปฏิบัติอยู่เสมอ สอนให้ไม่ประมาท บำเพ็ญประโยชน์ ๓ อย่าง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์เพื่อการพ้นทุกข์ ก่อนที่ท่านจะมรณภาพอย่างกระทันหันจากเหตุการณ์อุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี ๒๕๒๓
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ถือเป็นเนติแบบอย่างของพระสุปฏิปันโน ผู้เจริญรอยตามพระพุทธองค์ ท่านบำเพ็ญประโยชน์ตนจนครบถ้วนบริบูรณ์ ด้วยการบำเพ็ญเพียรตามป่าเขาจนถึงที่สุดแห่งวิมุตติธรรม จากนั้นจึงได้บำเพ็ญประโยชน์แก่โลก สร้างศาสนวัตถุ ถนนหนทาง ที่เก็บน้ำ รวมถึงเดินสายออกแสดงธรรมไปทั่วประเทศ เพื่อความเจริญแห่งจิตใจและความเป็นอยู่ของสาธารณชน ควรได้รับการจดจำเป็นแบบอย่างสืบไป