“ความกลัวมันไม่ตาย ผู้ตายมันไม่กลัว” อะไรตาย? ที่เราสมมติมั่นหมายก็คือการหมดลมหายใจ ธาตุขันธ์อันนี้แหละถือว่ามันตาย ตายแล้วมันจะไปทิ้งไปป่าช้า ไปฝัง ไปเผา มันไม่กลัวอะไร ทิ้งลงน้ำ โยนใส่ไฟ ไม่มีวิ่งหนี นี่คือ “ผู้ตาย” มันไม่กลัวอะไร
แต่ “ผู้กลัว” มันไม่ตาย ถ้ามันตายมันไม่มีโอกาสที่จะไปเกิดอีก จะเป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ เป็นเทพบุตรเทพธิดา อินทร์พรหม หรือนิพพาน เป็นไปไม่ได้ถ้ามันตาย นี่มันไม่ตาย “ผู้กลัว”
แต่ผู้ตายมันไม่กลัว เราไม่ได้พิจารณาแน่นอนก็เลยกลัวกัน ที่ไหนมีป่าช้าของจิต? ที่ฝังที่เผาของจิตไม่เคยมี ถ้าหากมันตายไปตามธาตุตามขันธ์ มันไม่มีเกิดอีก มันจะมีเชื้อของสัตว์ของมนุษย์มาจากที่ไหน
“ความเกิด” ก็คือ เรื่องของจิตที่ยังมีกรรม มีกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน ยังไม่ได้ชำระสะสางให้สะอาด ให้หมดจด เหมือนกันกับพืชที่เรายังไม่ได้ทำให้สุก ไม่ได้เผา ไม่ได้ต้ม ไม่ได้นึ่ง เมื่อเราเอาไปหว่านลงสถานที่ใด มันก็งอกขึ้น เกิดขึ้น ตกลงใส่ในที่สูง ก็งอกขึ้นในที่สูง ตกลงสู่ในที่ต่ำ ก็งอกขึ้นในที่ต่ำ พืชที่มียางเป็นอย่างนั้น
ฉันใด จิตใจของพวกเราท่านมันไม่ตายมันจึงมีการเกิดอีก เกิดในที่ต่ำๆ สูงๆ ตามผลของกรรมที่เราทำเอาไว้ มันไม่เคยตายมาแต่ไหนแต่ไร
เมื่อมันบริสุทธิ์หมดจากยางของมัน มันก็ไม่ตายอีก แต่มัน “ไม่เกิด” มันไม่ตาย
ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร (๑๒ กรกฎาคม ๒๔๖๗ - ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓) วัดป่าแก้วชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร นามเดิม สิงห์ทอง ไชยเสนา ชาวจังหวัดยโสธร เป็นพระสุปฏิปันโนที่มุ่งมั่นปฏิบัติกรรมฐานด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า รักษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีปฏิภาณโวหารในการแสดงธรรมอันแหลมคม และมีอุปนิสัยร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ ท่านมีโอกาสรับการอบรมข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และเป็นผู้ที่พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ยกย่องและไว้วางใจให้ทำกิจธุระสำคัญแทนองค์ท่านอยู่เสมอ
เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นพระธรรมยุต ณ วัดป่าสำราญนิเวศ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีพระครูทัศนวิสุทธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ในสามพรรษาแรก ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดป่าศรีฐาน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร และได้รับการอบรมสั่งสอนธรรมจากพระอาจารย์บุญสิงห์ ลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงนั้นท่านได้ตั้งสัจจะสร้างความเพียรอย่างหนึ่งคือ ภาวนาต่อเนื่องไม่ถือเอาเวลา ถือเอาจิตรวมลงเมื่อไหร่จึงหยุด ซึ่งทำให้ท่านวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างมากและจิตรวมลงสู่สมาธิได้ง่าย ในช่วงพรรษาแรกนี้ท่านได้ผ่านประสบการณ์เฉียดตายอย่างหนึ่ง คืออาพาธเป็นโรคฝีดาษ ในสมัยนั้นคนที่เป็นโรคนี้ส่วนมากจะเสียชีวิต แต่ท่านใช้การภาวนาแบบไม่คิดชีวิต ต่อสู้กับทุกขเวทนาจนสามารถเอาชนะมาได้
ในพรรษาที่ ๔ ท่านจำพรรษาที่วัดบ้านหนองแสง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร จากนั้นท่านก็เริ่มออกธุดงค์ไปที่พระธาตุพนมและพักอยู่ที่ริมแม่น้ำโขงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ต่อมาก็จาริกไปทางจังหวัดสกลนครเพื่อไปรับการอบรมสั่งสอนธรรมจากหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าหนองผือ อำเภอพรรณนานิคม ในที่นั้นท่านได้เจอครูบาอาจารย์ที่สำคัญคือ พระอาจารย์มหาบัว ด้วย หลังจากได้ฟังคติธรรมพอเป็นหลักในการปฏิบัติต่อไปแล้ว จึงได้กราบลาหลวงปู่มั่นออกวิเวกต่อไป
ในพรรษาที่ ๕ ท่านอยู่ที่วัดป่าบ้านนาหัวช้าง (วัดป่าอุดมสมพร) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นผู้ปกครองดูแลในขณะนั้น ในพรรษาที่ ๖ ท่านอยู่ศึกษาข้อธรรมกับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว ที่นี่ท่านได้ฝึกนั่งภาวนาผ่านทุกข์แบบยอมตาย ด้วยอุบายการใช้สติปัญญาพิจารณาแยกแยะธาตุขันธ์ ผลคือจิตใจของท่านเกิดความอาจหาญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อออกพรรษาแล้วก็ไปอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่ภูเหล็ก อำเภอส่องดาว การภาวนาของท่านในช่วงนี้มีแต่ความราบรื่น จากนั้นท่านได้เที่ยวธุดงค์ไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ ในเขตอีสานเหนือ ในพรรษาที่ ๘ ได้อยู่จำพรรษาร่วมกับเพื่อนสหธรรมิกที่สำคัญ คือ พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ และพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ในพรรษาที่ ๙–๑๑ ท่านอยู่ทำความเพียรที่วัดป่าบ้านห้วยทราย (วัดป่าวิเวกวัฒนาราม) อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร โดยมีพระอาจารย์มหาบัว เป็นผู้อบรมสั่งสอน
พระอาจารย์สิงห์ทองได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความกตัญญูต่อครอบครัวเป็นอย่างมาก ท่านได้พาโยมพ่อไปบวชเป็นพระในช่วงบั้นท้ายของชีวิต หลังจากนั้นก็ได้พาโยมแม่กับโยมน้าไปบวชชีและอยู่ปฏิบัติกับพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด และหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง จังหวัดอุดรธานี ตามลำดับด้วย
ตั้งแต่พรรษาที่ ๒๒ พระอาจารย์สิงห์ทองได้รับนิมนต์มาอยู่ที่วัดป่าแก้วชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี ถือปฏิปทาของครูบาอาจารย์ฝ่ายพระกรรมฐานอย่างเคร่งครัด ดูแลพระเณรให้รักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่เน้นการก่อสร้างศาสนวัตถุที่ไม่จำเป็น และมุ่งมั่นในการทำความเพียรภาวนาอยู่เป็นนิจ โดยท่านจะเดินสำรวจการปฏิบัติภาวนาของพระเณรในวัดและเทศน์อบรมสั่งสอนอยู่ตลอด ขณะเดียวกันท่านก็ไม่เคยบกพร่องในการดูแลเอาใจใส่และสอนธรรมะแก่บรรดาญาติโยมที่มาทำบุญและถือศีลที่วัด จนทุกคนได้รับความสบายใจและความอบอุ่นในการอยู่ปฏิบัติธรรม แม้ท่านจะมรณภาพลงอย่างกะทันหันด้วยเหตุการณ์เครื่องบินตกในปี ๒๕๒๓ แต่ก็ได้อำนวยประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสาธุชนมากมายตลอดมา ควรแก่การกราบไหว้ด้วยความเคารพยิ่งสืบไป