เน้นหนักในการสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ
เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน ให้พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็พยายามพิจารณาว่าในร่างกายของเรานั้นมีอะไร มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี
ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ ด้วยเป็นอนัตตาทั้งนั้น จะมีตัวมีตนในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา ไม่มี
แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองอยู่ๆ ในร่างอันนี้ เราจึงสมมติบัญญัติว่า สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา
ประวัติและปฏิปทา
พระครูวิเวกพุทธกิจ หรือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล (๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ - ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕) ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ถือได้ว่าเป็นปรมาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานในยุครัตนโกสินทร์ โดยท่านเป็นผู้วางรากฐานการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้แก่ชาวพุทธผู้มุ่งหวังในการพ้นทุกข์ได้ปฏิบัติตามและเข้าถึงมรรคผลเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นครูบาจารย์โดยตรงของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แล้ว ยังมีลูกศิษย์ที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่สำคัญแห่งยุคอีกหลายองค์ อาทิ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย
หลวงปู่เสาร์ มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังเด็ก ได้เป็นลูกศิษย์ช่วยเหลืองานในวัด และบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดใต้ (วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะมหานิกาย เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงได้บวชเป็นพระภิกษุศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดใต้นี้เอง หลังจากที่จำพรรษาที่วัดใต้ได้ ๑๐ พรรษา ท่านมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี จนเกิดความเลื่อมใสในธรรมภาคปฏิบัติ และได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุลบรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากได้ญัตติแล้ว หลวงปู่เสาร์ก็มุ่งมั่นแต่เรื่องการปฏิบัติกรรมฐาน ได้เที่ยวธุดงค์ไปตามถ้ำตามป่าตามภูต่างๆ ทั้งฝั่งไทยฝั่งลาว เพื่อหาสถานที่วิเวกในการบำเพ็ญภาวนา ต้องอยู่ท่ามกลางสัตว์ป่าน้อยใหญ่เพื่อฝึกฝนให้จิตตื่นอยู่เสมอ ในการปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์นี้ จิตของท่านมีการพัฒนาไปด้วยความเรียบง่าย ไม่มีอุปสรรคหรือความโลดโผนเหมือนกับของครูบาอาจารย์หลายๆ ท่าน หลังจากได้บำเพ็ญเพียรบารมีธรรมเป็นเวลาอันสมควรแล้ว หลวงปู่เสาร์ได้กลับมาประจำที่วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแนะนำวิธีการปฏิบัติภาวนาให้แก่พุทธศาสนิกชนผู้สนใจต่อไป
ในช่วงปี ๒๔๓๔-๒๔๓๖ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่หลวงปู่เสาร์ได้พบและเทศนาอบรมหลวงปู่มั่น ขณะที่ท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ จนหลวงปู่มั่นเกิดความเลื่อมใสและขอออกบวชติดตาม ในระยะแรกนั้น หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นได้ออกเที่ยวธุดงค์ไปทางภาคอีสานด้วยกันเสมอ หลวงปู่เสาร์นับว่าเป็นครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณที่หลวงปู่มั่นเทิดทูนด้วยชีวิต แม้ว่าหลวงปู่มั่นสามารถเข้าสู่กระแสธรรมได้ก่อนหลวงปู่เสาร์ แต่ท่านก็ยังอุปัฏฐากดูแลหลวงปู่เสาร์ดั่งตัวเองเป็นพระบวชใหม่อยู่เสมอ
ในช่วงปี ๒๔๕๙-๒๔๖๔ ครูบาจารย์ทั้งสองพำนักอยู่ที่ถ้ำจำปา ตำบลหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ขณะที่หลวงปู่เสาร์กำลังนั่งพิจารณาธรรมอยู่ ใจของท่านก็รู้แจ้งแทงตลอดสภาวธรรมอย่างลึกซึ้ง เกิดปัญญาเห็นชอบละวางอวิชชาอันเป็นความหลงของใจได้อย่างสิ้นเชิง หลวงปู่มั่นเองก็ทราบทางวาระจิตว่าอาจารย์ของท่านได้ถึงซึ่งวิมุตติธรรมแล้ว และเกิดปีติยินดีด้วยเป็นอย่างมาก
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีศีลาจารวัตรงดงาม อ่อนน้อมถ่อมตน สุขุมลุ่มลึก สง่าผ่าเผย พูดน้อย หากจะเทศน์ก็เทศน์เพียงไม่กี่คำเพราะเน้นการปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นที่เคารพเลื่อมใส ต่อบรรดาลูกศิษย์และบุคคลที่พบเห็นเป็นอย่างมาก ใจของท่านเองก็ถึงแล้วซึ่งความบริสุทธิ์ และเจริญพรหมวิหารโปรดหมู่สัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นนิจ หลวงปู่เสาร์ได้ละสังขารไปด้วยอาการสงบขณะอยู่ในอิริยาบถนั่งกราบพระประธานในพระอุโบสถ นับได้ว่า ท่านเป็นพระอริยสงฆ์สาวกแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง