ตัวตนของเราที่อาศัยอยู่นี้ไม่ใช่อื่น ตัวทุกข์ ทุกขปริญญา
ให้กำหนดทุกข์ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไปเท่านั้น เราเป็นผู้อาศัยทุกข์
คำที่ว่าเรานั้นหมายถึงสภาพธรรม
สกลกายนี้ที่ว่าเป็นตัวทุกข์เปรียบเหมือนบ่าว ส่วนเราคือธรรมเป็นผู้รับรู้รับเห็น รับสุขรับทุกข์ รับดีรับชั่ว รับได้รับเสีย ส่วนตัวไม่มีอะไร
ถ้าเราเห็นว่าก้อนนี้เป็นก้อนทุกข์ เราอาศัยทุกข์ อยู่เหนือทุกข์ เราก็แบ่งเอาความสุขได้
ถ้าเราถือว่าทุกข์เป็นเรา เราทุกข์ เปรียบเหมือนทุกข์อยู่เหนือเรา เราก็งอมไปเท่านั้น
การรู้จักทุกข์ย่อมได้ผลคือความดับทุกข์อย่างนี้
ประวัติและปฏิปทา
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หรือ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ (๒๐ มีนาคม ๒๓๙๙ - ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๗๕) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นามเดิม จันทร์ ฉายา สิริจนฺโท เป็นพระราชาคณะ ฝ่ายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ชาวเมืองอุบลราชธานี ท่านเป็นธรรมกถึกผู้สอนธรรมะให้แก่พระเถระฝ่ายวิปัสสนาองค์สำคัญหลายรูป รวมถึงเป็นอาจารย์และสหธรรมิกที่สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งสายพระธุดงคกรรมฐาน
ในด้านปฏิปทาส่วนองค์ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นพระมหาเถระผู้เคร่งครัดในสัมมาปฏิบัติ ดำรงตนอย่างพระป่า กอปรด้วยศีลและธรรมอันบริสุทธิ์ มักน้อยสันโดษ สุขุมเยือกเย็น ถือข้อธุดงควัตรเป็นปกติวิสัย มีศีลาจริยวัตรที่งดงาม ควรค่าแก่การกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ อีกทั้งยังเป็นผู้มีขันติธรรม แม้ในขณะอาพาธก็ไม่ยอมให้ทุกขเวทนาครอบงำ เด็ดเดี่ยวหาญกล้าเผชิญความตายที่รอข้างหน้าด้วยสติสัมปชัญญะอันสมบูรณ์ ดั่งนักรบของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดระบบการศึกษาสมัยใหม่ของคณะสงฆ์และฝ่ายฆราวาสในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการศึกษาของกุลบุตรให้เจริญรุ่งเรือง โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากของตัวเอง ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนบุรพาสยามเขตร เมืองนครจำปาศักดิ์ โรงเรียนอุบลวิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานี และจัดให้มีการศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ วัดสิริจันทรนิมิตร จังหวัดลพบุรี และวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จัดเป็นพระนักเทศน์ชั้นเอก ผู้มีองค์ความรู้และปฏิภาณไหวพริบในการแสดงธรรม ให้ผู้ฟังได้เกิดความชัดเจนในข้ออรรถข้อธรรม มีความปีติร่าเริงและอาจหาญในการปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธองค์ ในด้านการสั่งสอน ท่านเป็นปราชญ์ผู้ใส่ใจในการเทศน์อบรมธรรม ให้ความรู้แก่พระภิกษุสามเณร และฆราวาสทั่วไปด้วยความเสมอภาคกัน มุ่งมั่นให้ผู้รับคำสอนได้ประโยชน์ตามภูมิธรรมภูมิรู้ของตนเอง ในช่วงชีวิตของท่าน ได้ฝากคำสอนไว้มากมาย ที่คณะศิษย์ได้นำไปจัดพิมพ์เผยแผ่กว่าร้อยเรื่อง ทั้งร้อยแก้วกาพย์โคลง รวมถึงอัตตโนประวัติของตัวท่านเอง เป็นมรดกธรรมให้แก่กุลบุตรลูกหลานได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาต่อไป