จิตอยู่ภายใน ใจอยู่ภายนอก
ตานอกคือใจ ตาในคือจิต
ตานอกวิจัย ตาในวิจิตร
ผู้มีความเห็นผิด เพราะไม่รู้จักจิตไม่รู้จักใจ
จงฝึกจิตบังคับจิต เพ่งพินิจ ไม่ยอมเบื่อ
ให้จิตเกิดความเชื่อ เหมือนเกลือ รักษาความเค็ม
จงเพ่งพินิจ ภายในร่าง อย่าให้ออกนอกกาย
จิตจะเกิดความคลาย เพราะเมื่อ ด้ายตามเข็ม
ผู้ไม่เชื่อพระตถาคต จะไม่รู้รส ของความเค็ม
เมื่อด้ายไม่เดินตามเข็ม รสความเค็ม ก็ไม่มี
ประวัติและปฏิปทา
พระครูวิจิตรกิตติคุณ หรือ หลวงปู่เปลื้อง ปญฺญวนฺโต (๑๕ กันยายน ๒๔๔๖ - ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๐) วัดบางแก้วผดุงธรรม อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง นามเดิม เปลื้อง มุสิกอุปถัมภ์ ชาวจังหวัดพัทลุง เป็นพระนักปฏิบัติกรรมฐานที่มีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ อดทนเป็นเลิศ ทำในสิ่งที่บุคคลอื่นทำได้ยาก และอุทิศชีวิตเพื่อการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง แม้เป็นผู้ถึงแล้วด้วยวิมุตติธรรม แต่ท่านยังวางตนเป็นพระธรรมดา มีความเป็นอยู่เรียบง่าย มักน้อยสันโดษ อาจริยวัตรและข้อวัตรสมบูรณ์ และปฏิบัติต่อทุกคนดั่งกุลบุตรลูกหลานแท้ๆ ของท่าน
สมัยวัยเด็กท่านลำบากมาก เพราะตัวเล็กและขี้โรค เป็นโรคตาบอดไก่ ตอนกลางคืนจะมองไม่เห็นอะไร พอโตขึ้นมาก็ป่วยเป็นโรคนานาชนิด ไม่คิดว่าจะอายุยืนถึง ๓๐ ปี หลวงปู่เล่าว่าท่านเป็นคนมีสัจจะ คนมีสัจจะเทวดาจะคุ้มครอง ดังนั้นเวลาเจ็บป่วยครั้งใด จะมีเทวดามาบอกยาให้ กินแล้วจะหายทุกครั้ง
เมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโตนด จังหวัดพัทลุง ครั้นอายุครบบวช ๒๐ ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดประดู่หอม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมีพระครูธรรมจักราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ การบวชครั้งนี้เป็นการบวชตามพระเพณี ท่านบวชอยู่ ๒ พรรษา สอบได้นักธรรมตรี แต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม อยากเรียนนักธรรมโทต่อ แต่ไม่มีที่เรียนใกล้ๆ จึงได้ลาสิกขาออกมา
เมื่ออายุ ๒๔ ปี ได้แต่งงานมีครอบครัว โดยมีลูก ๕ คน แต่ ๒ คนถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อได้แต่งงาน ท่านและภรรยาสัญญากันว่าจะให้ความเกรงใจซึ่งกันและกัน จะอยู่กันด้วยเหตุผล มีสัจจะให้กัน ท่านกับภรรยาจึงไม่เคยทะเลาะกันเลย อุปนิสัยส่วนตัวท่านชอบถือศีล ๘ เป็นคนใจบุญ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ท่านอาสาเป็นสัปเหร่อเผาศพจำนวนนับร้อยศพ ทำให้ได้ธรรมสังเวชด้านอสุภกรรมฐาน เพราะได้สัมผัสกับปฏิกูลซากศพที่เหม็นและเน่าเปื่อย จนเห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต
เมื่ออายุได้ ๖๐ ปี ท่านพิจารณาแล้วว่าลูกๆ ทั้งหมดพอจะดูแลกันเองได้ จึงได้อุปสมบทอีกครั้ง ที่วัดท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง โดยมีพระราชธรรมมุนี (เปลื้อง จตฺตาวิโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “ปัญญวันโต ผู้มีปัญญาอันฉลาดหาที่สุดมิได้” จากนั้นพระอุปัชฌาย์ได้พาไปปฏิบัติธรรมที่วัดปัณณาราม อำเภอเขาชัยสน หนึ่งพรรษา และให้ท่านไปศึกษาธรรมที่วัดคลองไอ้โต ที่อำเภอบางแก้ว อีกระยะหนึ่ง
ในปี ๒๕๐๘ หลวงปู่ได้รับการมอบหมายให้ดูแลสำนักปฏิบัติธรรมใกล้ตลาดบางแก้ว ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งเป็นวัดบางแก้วผดุงธรรม เพื่อเป็นสถานที่อบรมการปฏิบัติกรรมฐาน ให้ญาติโยมได้บำเพ็ญภาวนา และมุ่งปฏิปทาตามแบบอย่างของท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรํสี) หัวหน้ากองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในภาคใต้สมัยนั้น
เมื่ออยู่วัดบางแก้วผดุงธรรม ท่านได้เร่งทำความเพียร สำรวมอินทรีย์หก ไม่พูดคุยกับใคร ไม่รับกิจนิมนต์ใดๆ ไม่แตะต้องแม้แต่เงินบาทเดียว และถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดชีวิต ทุกวันท่านออกบิณฑบาตเช้า ฉันเสร็จก็เข้ากุฏิปิดประตูปฏิบัติธรรมภาวนา จนได้เวลาก็ออกมากวาดตาด พอเสร็จแล้วก็ภาวนาต่ออีกแทบจะทั้งคืน ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรทุกวัน สำหรับหัวข้อการภาวนา ท่านเน้นหลัก “เพียร เพ่ง พินิจ” คือใช้ปัญญาพิจารณาดูภายในกายอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมหยุดจนกระทั่งเข้าหลักชัย คิดค้นเหตุและโทษของราคะความกำหนัด และอาศัยสัจจะเป็นตัวสร้างกำลังสติปัญญาเอาชนะนิวรณ์และชำระกิเลสน้อยใหญ่ให้หมดไปจากใจด้วยการรู้เท่าทัน ท้ายที่สุดท่านได้เข้าถึงธรรมขั้นสูงสุดในปี ๒๕๑๔ พรรษา ๘ นี้เอง
หลังจากนั้น หลวงปู่เปลื้องได้อยู่ดูแลวัดบางแก้วผดุงธรรมด้วยดีจนถึงมรณกาล เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๐ ตาม “สัจจะ” ที่รับปากพระอุปัชฌาย์ไว้ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศ ผู้จักได้สืบทอดปฏิปทาของ “พระแท้” รูปนี้ต่อไปด้วยความเคารพศรัทธายิ่ง