ความเกิดเป็นหญิงเป็นชาย ว่าเขาว่าเรา อ้ายก้อนนี้มันเกิดมาจากไหน ต้องสาวหาเหตุมัน มันเกิดมาจากตัณหานี่แหละ
นั่นแหละจึงให้ถอนตัณหา ให้ละตัณหา ให้ละทิ้ง ให้สละ ครั้นมันรู้จักแล้วมันก็จะละ
เรื่องทุกขสัจจ์นี้ให้มันรู้ พิจารณามันทั้งนอกทั้งใน
หรือจะออกพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการสามสิบสองน่ะกระจายออกทุกส่วนๆ แล้ว มันเหลือเป็นคนไหม บ่มีคนแล้ว กำหนดออกไปๆ จนเหลืออายตนะของมัน
บัญญัติ ความสมมติ สมมติคือขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
รูปขันธ์คือธาตุสี่ประชุมกันเป็นรูปขันธ์ ถ้ามีรูปก็มีเวทนาเกิดขึ้น ต่อไปผัสสะมันต่อกันเกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าไม่บอกให้พิจารณาที่อื่น ให้พิจารณาที่นี่ หมดก้อนของเขาของเรานี่แหละแม่นก้อนธรรม อย่าไปหาที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่น
ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ขาว อนาลโย (๒๘ ธันวาคม ๒๔๓๑ - ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖) วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู นามเดิม ขาว โคระถา ชาวจังหวัดอํานาจเจริญ เป็นพระมหาเถระผู้สืบทอดปฏิปทาสายตรงของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และเป็นเสาหลักแห่งวงศ์พระธุดงคกรรมฐานในภาคอีสาน ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติที่มั่นคง มีศีลาจารวัตรงดงาม ใจเปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม สมควรที่ชาวพุทธทั้งหลายพึ่งประพฤติปฏิบัติตามด้วยความเคารพยิ่ง
หลวงปู่ขาวเกิดในตระกูลชาวนาที่มีฐานะไม่ดีนัก ไม่ได้เรียนหนังสือเพราะต้องทำงานช่วยเหลือที่บ้าน ต้องลำบากหาเลี้ยงปากท้องเพื่อความอยู่รอดไปวันๆ มีความทุกข์แสนสาหัส พอมีครอบครัวภรรยาก็นอกใจ ทำให้ท่านแค้นใจมากเกือบจะฆ่าชายชู้และภรรยาให้ตาย แต่ด้วยกำลังสติและความตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดีเป็นบารมีเก่าสะสมมา จึงเกิดสลดสังเวชใจ ประกาศยกภรรยาให้อย่างเปิดเผย และตัดสินใจออกบวชเพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์
หลวงปู่ขาวได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่พัทธสีมาวัดโพธิ์ศรี (วัดบ่อชะเนง) อำเภอเมือง จังหวัดอํานาจเจริญ โดยมีพระครูพุฒิศักดิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเป็นผู้มีนิสัยเด็ดเดี่ยวจริงจัง ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อขัดเกลาจิตใจตัวเองอยู่เสมอ ภายหลังด้วยความที่ท่านมีใจฝักใฝ่ไปในทางการปฏิบัติภาวนา จึงตัดสินใจออกธุดงค์เพื่อแสวงหาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นครูบาอาจารย์ หลวงปู่ขาวนั้นเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของหลวงปู่มั่นมาก เพราะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เพียงถ่ายเดียว จึงได้ญัตติเป็นพระธรรมยุต ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นท่านจึงออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่มั่นเพื่อเรียนรู้ข้ออรรถข้อธรรม
หลวงปู่ขาวเป็นผู้มีความเพียรเป็นเลิศ ท่านออกเดินทางธุดงค์ทุกปีไปแทบทุกภาคของประเทศ ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมในถิ่นทุรกันดาร อยู่ในป่าในเขา เป็นเวลายาวนาน ภาวนาเป็นไปอย่างอุกฤษฏ์ ยอมสละชีพเพื่อธรรมอย่างนักรบ อดนอนผ่อนอาหาร และนั่งสมาธิตลอดสว่างเป็นปกติวิสัย ท่านจะเดินจงกรม ๓ เวลาเป็นวัตรไม่ขาด เพื่อเป็นการบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะทำความเพียรก็มีความเพลิดเพลินทั้งกลางวันกลางคืน สมเป็นพุทธชิโนรสอย่างแท้จริง
พรรษาที่ ๑๖-๑๗ หลวงปู่ขาวได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ที่โรงขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้นท่านได้วิปัสสนาญาณจากการพิจารณาเมล็ดข้าว เปรียบเทียบเชื้อภายในเมล็ดข้าวกับเชื้อที่พาใจให้เวียนว่ายตายเกิด คือ อวิชชา ได้พิจารณาอนุโลม ปฏิโลม ด้วยปัญญาอย่างแยบคายจนอวิชชาหลุดกระเด็นจากใจ และเข้าถึงความเป็นวิมุตติหลุดพ้นในที่สุด หมดสิ้นเหตุที่จะกลับมาเกิดอีก สมดั่งฉายาของท่านว่า “อนาลโย ผู้ไม่มีอาลัย”
หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้จาริกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระธรรม จนท้ายที่สุดได้มาประจำที่วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจฉิมวัย แม้ว่าท่านชราภาพมากแล้ว แต่หลวงปู่ยังคงมีสติสมบูรณ์ ยิ้มแย้มร่าเริง มีอารมณ์ขัน ดำรงไว้ซึ่งพรหมวิหารธรรมที่ทุกคนสัมผัสได้ และสงเคราะห์หมู่คณะและประชาชนทั่วไป จนถึงอนุปาทิเสสนิพพาน