เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิได้มากพอ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการแยกตัวออกของจิต และ อาการของขันธ์
ซึ่งในสภาวะตอนนี้ ในวงการภาวนาจะเรียกว่า สภาวะแห่งการเป็นของคู่ คือ มีผู้รู้ และ สิ่งที่ถูกรู้ ในบรรดาสิ่งที่ถูกรู้นั้น คือ อาการต่างๆ ในขันธ์ ๕
จิตเหมือนฟองไข่ และในคำสอนก็บอกว่า ให้ทำลายจิตทิ้งเสีย
เมื่อจิตถูกทำลายทิ้ง สภาวะของคู่ก็จะสลายไป กลายเป็นสภาวะใหม่ ที่เรียกว่า ความเป็นหนึ่ง ขึ้นมาแทน
ในความเป็นจริง ไม่มีใครทำลายจิตได้ แม้แต่ตัวนักภาวนาเอง
แต่การที่จิตเกิดการแตกสลายออกไปนั้น เกิดจากที่จิตที่บ่มเพาะปัญญา ที่จิตไปเห็นจิตที่แปรเปลี่ยนไปมาเพราะมีการสร้างขันธ์ขึ้นของจิต และเห็นสภาวะแห่งจิตที่หยุดสร้างขันธ์
ปัญญานี้แหละที่จะทำลายจิตให้เป็น จิตหนึ่ง
ประวัติและปฏิปทา
พระราชวุฒาจารย์ หรือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (๔ ตุลาคม ๒๔๓๐ - ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖) วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ นามเดิม ดูลย์ ดีมาก (เกษมสินธุ์) เป็นลูกศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ฝ่ายพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการพัฒนาจิต และมีโวหารธรรมอันลุ่มลึก ท่านมีอุปนิสัยเป็นคนรักสงบ พูดน้อยแต่พูดจริงพูดตรง ท่านเน้นการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาสั่งสอน และมีเมตตาธรรมเป็นวิหารประจำใจ หลวงปู่มีลูกศิษย์สำคัญหลายองค์ อาทิ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่สาม อกิญฺจโน
หลวงปู่ดูลย์เป็นลูกชายคนโตของครอบครัว เป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาดี มากด้วยความสามารถ และมีชื่อเสียงในวงการละครสมัยนั้น แต่เพราะบารมีเก่าที่สะสมมา ท่านไม่ได้ยึดติดในเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง และความสะดวกสบายทางโลกอันเป็นภาพมายา หลวงปู่มีความฝักใฝ่ในทางบวชเพื่อความสงบวิเวกอยู่เสมอ ดังนั้น เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดจุมพลสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีพระครูวิมลศีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อแรกบวช หลวงปู่ดูลย์ฝึกการปฏิบัติกรรมฐานอยู่ที่วัดคอโค จังหวัดสุรินทร์ ท่านพากเพียรปฏิบัติอย่างสุดกำลัง มีการลดหย่อนผ่อนอาหารเพื่อเผาผลาญกิเลสจนร่างกายซูบผอม แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนกระทั่งเข้าพรรษาที่ ๖ ท่านได้เดินทางไกลไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีและแปลพระธรรมบทได้ ต่อมาในปี ๒๔๖๑ ขณะท่านอายุได้ ๓๑ ปี จึงได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต ณ พัทธสีมา วัดสุปัฏนาราม โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากที่หลวงปู่ได้เรียนภาคปริยัติจบสมตามความตั้งใจแล้ว จึงได้มาพิจารณาเห็นว่าการเรียนรู้หัวข้อธรรมเพียงอย่างเดียวมิอาจทำให้เข้าถึงตัวธรรมที่แท้จริงได้ และเริ่มมีใจหันเหไปในทางออกปฏิบัติธุดงคกรรมฐานมากขึ้น ตอนนั้นท่านได้พบกับกัลยาณมิตรที่สำคัญ คือ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ทั้งสองมีจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติมุ่งสู่ความพ้นทุกข์เหมือนกัน จึงพากันไปกราบและรับโอวาทธรรมจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อยู่เป็นประจำ จนเกิดความซาบซึ้งใจอย่างมาก ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่มั่นมาพำนักอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ดูลย์จึงได้ละทิ้งกิจทั้งหมดทางด้านคันถธุระ และออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่มั่นไปยังที่ต่างๆ หลายแห่ง
เมื่อได้จาริกธุดงค์ตามความตั้งใจและอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ดูลย์จึงได้เกิดฉันทะในการทำความเพียรอย่างมาก ถึงแม้ต้องเผชิญกับพยาธิภัยและมรณภัยจากอาการไข้ป่า ท่านก็มิได้ลดละความเพียรนั้น แต่กลับปฏิบัติเอาชีวิตเข้าแลก พยายามดำรงสติอย่างมั่นคงทุกอิริยาบถ และระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เมื่อท่านได้ดำเนินจิตอยู่ในมรรควิถีอย่างต่อเนื่อง ในท้ายที่สุด ณ ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านจึงได้ปัญญารอบรู้ในธรรม เข้าใจสภาพเดิมของจิต คือ ใจ ที่ปราศจากการปรุงแต่ง กิเลส และอุปาทาน และเข้าถึงความสงบสงัดอันแท้จริง
หลวงปู่ดูลย์ได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่เกือบ ๒๐ ปี จึงได้กลับมาพัฒนาวัดบูรพาราม อันเป็นวัดคณะธรรมยุตแห่งแรกในจังหวัดสุรินทร์ ท่านบริหารงานวัดอย่างเต็มกำลังความสามารถ จัดระเบียบการศึกษาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี รวมถึงได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์มากมาย เมื่อมีผู้มาขอฟังธรรม หลวงปู่ดูลย์มักจะให้คติธรรมสั้นๆ แต่มีความหมายอันแยบคายและลึกซึ้งอยู่เสมอ แม้ว่าท่านจะละสังขารไปนานแล้ว แต่โอวาทธรรมและข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่ได้ฝากไว้จะยังประโยชน์มหาศาลแก่ชาวพุทธรุ่นหลังได้น้อมนำไปปฏิบัติ นับเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง