ธรรมะ คือคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวเรานี่เอง มิใช่อื่น พุทธะ คือ ผู้รู้ ก็ตัวเรานี้เอง มิใช่ใครอื่น
เช่นเดียวกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกไข่ ทำให้เปลือกไข่แตก เราก็ได้ไข่ พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะได้ธรรมะ
ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม (๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๑ - ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗) วัดอรัญญวิเวก อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม นามเดิม ตื้อ ปาลิปัตต์ เป็นครูบาอาจารย์ที่สำคัญฝ่ายพระธุดงคกรรมฐาน และเป็นที่รู้จักกันดีในภาคเหนือ ท่านเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต เป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และหลวงปู่ขาว อนาลโย และมีศิษย์สำคัญหลายองค์ อาทิ หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปญฺโญ และพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป
อุปนิสัยภายนอก หลวงปู่ตื้อเป็นคนตรง มีอุปนิสัยโผงผาง พูดจาขวานผ่าซาก อาจหาญ และเด็ดเดี่ยว แต่ในส่วนตัว ท่านรักความสงบ สันโดษ และใคร่ในการศึกษามาก ท่านเกิดมาในครอบครัวสัมมาทิฏฐิ พี่น้องของท่านทั้งหมดเข้าบวชในพระพุทธศาสนา ตัวท่านเองก็เข้าวัดตั้งแต่ยังเด็ก และมีโอกาสได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๒๑ ปี หลวงปู่ตื้อก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย เมื่อบวชแล้วท่านก็มีความกระตือรือร้นในการศึกษาค้นคว้าในพระธรรมวินัยเป็นอย่างมาก มีครั้งหนึ่งท่านเดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทางกว่า ๕๐ กิโลเมตร เพื่อไปเข้าเรียนรู้ในสำนักเรียนที่อยู่ห่างไกล ท่านศึกษาอยู่ที่นั่นจนจบเป็นเวลานานถึง ๔ ปีเต็ม และหลังจากกลับมาพักเพียง ๓ วัน ท่านก็ตัดสินใจไปเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพฯ โดยใช้วิธีการเดินธุดงค์ ค่ำไหนก็พักและเจริญจิตภาวนาที่นั่น แต่พอเดินไปสักพัก จิตท่านเริ่มเห็นผลจากการทำสมาธิ จึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเรียนต่อ และหันมาปฏิบัติกรรมฐานแทน ซึ่งท่านรู้ว่าถูกกับจริตนิสัยของท่านมากกว่า และเชื่อว่าเป็นเส้นทางตรงต่อมรรคผลนิพพาน
ในช่วงที่เดินธุดงค์จากภาคอีสานเข้าไปในประเทศลาวนี้เอง ท่านได้พบกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ซึ่งตอนนั้นทั้งสององค์ยังเป็นพระภิกษุหนุ่มอยู่ ได้สนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะและความรู้กัน มีความเคารพเลื่อมใสซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นก็ได้ออกธุดงค์ไปยังสถานที่วิเวกต่างๆ ร่วมกันเป็นประจำ แม้ว่าท่านทั้งสองจะมีอุปนิสัยภายนอกที่แตกต่างกัน โดยหลวงปู่แหวนเป็นคนพูดน้อย เสียงเบา ส่วนหลวงปู่ตื้อพูดเสียงดัง ตรงไปตรงมา แต่ก็เกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี พระหนุ่มทั้งสองมีความตั้งใจตรงกันอีกอย่างหนึ่งคือ การเดินทางไปกราบพระอาจารย์มั่น แต่ก็มีความคิดว่าควรจะจาริกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญเพียรสะสมบารมีเสียก่อน ค่อยไปพบท่านในภายหลัง
เมื่อหลวงปู่ตื้ออายุได้ ๓๗ ปี ได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ แล้วได้ไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์ต่อท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จากนั้นไม่นานก็ได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุต โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาหลวงปู่ตื้อได้พักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งท่านได้ขยันหมั่นเพียรในการเรียนรู้ข้อวัตร ฝึกหัดกรรมฐาน และออกธุดงค์ตามหลวงปู่มั่น โดยเป็นที่รู้กันทั่วไปในเวลานั้นว่า หลวงปู่ตื้อเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดที่หลวงปู่มั่นไว้ใจ ได้ทำกิจต่างๆ แบ่งเบาภาระหน้าที่ครูบาอาจารย์ได้สำเร็จลุล่วงเสมอ แม้ต้องเสี่ยงภัยอันตรายมากก็ตาม
ต่อมาแม้ว่าหลวงปู่มั่นและคณะศิษย์ส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับภาคอีสานแล้ว หลวงปู่ตื้อและหลวงปู่แหวนก็ยังพำนักอยู่ที่ภาคเหนือต่อไปจนเข้าสู่วัยชรา เพราะภาคเหนือมีภูมิประเทศเป็นป่าเขาร่มรื่น มีถ้ำวิเวก และสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนามากมาย สถานที่พำนักของหลวงปู่ตื้อและหลวงปู่แหวนก็อยู่ไม่ไกลกันมากนัก สามารถไปมาหาสู่และเกื้อกูลกันได้ตลอด
หลวงปู่ตื้อท่านมีผลงานการสร้างวัดที่สำคัญสองแห่ง คือ วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน และวัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดป่าอาจารย์ตื้อ ซึ่งหลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่เป็นเวลานาน และมีหลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ พระหลานชายของท่านได้ดูแลวัดต่อ หลังจากที่หลวงปู่ตื้อเดินทางกลับไปภาคอีสานในช่วงปัจฉิมวัย
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นพระกรรมฐานแท้ เที่ยวปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานตามถ้ำและป่าเขาต่างๆ เป็นระยะเวลาติดต่อกันกว่า ๕๐ ปี เรื่องราวความอัศจรรย์ของท่านมีมากมาย มิอาจรวบรวมและบันทึกได้หมด ในด้านการแสดงธรรมของท่านก็มีความลุ่มลึก ตรงไปตรงมา เจาะไปที่แก่นแห่งธรรม และมีอุบายการสอนเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผู้ฟังต้องประหลาดใจอยู่เสมอ แม้ในกาลที่ท่านจะละสังขารหลวงปู่ก็ยังแสดงธรรมถึงวินาทีสุดท้าย อันแสดงถึงความห่วงใยต่อคณะศิษย์ จึงไม่แปลกใจว่าหลวงปู่เป็นที่เคารพรักและเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมากของบุคคลทั้งหลาย