เราจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ในวัฏสงสารนี้ มันมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีโศก ท่านว่าทุกข์ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัส นี่ให้พวกเรามอง ...
จงดูอยู่ในปัจจุบัน คือปัจจุบันเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ วันนี้ ภพนี้ ชาตินี้ เมื่อเราเห็นในปัจจุบันนี้แล้ว อนาคตไม่ต้องไปรู้มัน มันเชื่อมกันไปหมด อดีต กับอนาคต กับปัจจุบัน มันเป็นอันเดียวกัน คือมันมีสภาพอันเดียวกัน มีเกิดแล้วก็มีดับ
ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของที่ไม่ได้ลี้ลับ ไม่ได้ปิดบัง แต่เราไม่ได้ดูเฉยๆ เราไม่ได้เอาใจใส่เฉยๆ การงานมันปิดบัง ก็เลยไม่เห็น ก็แล้วไป ที่พระพุทธเจ้าท่านเตือน วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ผู้มีสติเท่านั้นถึงจะรู้ว่าเดี๋ยวนี้เราทำอะไรอยู่
นี่แหละพวกเราทุกคนต้องการความสุข หรือต้องการความทุกข์ ก็เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราพิจารณานะ ท่านให้รู้ ท่านไม่ให้หนีมัน ไปที่ไหนมันก็มีอยู่ที่นั่นความทุกข์ ถ้าเราไม่เป็นผู้พ้นไปแล้วจากภพจากชาติ มันก็ไม่พ้น หนีฟ้ามันก็ไม่พ้นจากฝน เพราะเราอยู่ในกรอบของมัน
นี่กองทุกข์เราต้องดู พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ดู เราจะหนีจากกองทุกข์ เราก็ต้องรู้ทุกข์เสียก่อน
ประวัติและปฏิปทา
พระครูญาณวราจาร หรือ หลวงปู่วิไลย์ เขมิโย (๒ ธันวาคม ๒๔๗๖ - ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐) วัดถ้ำพญาช้างเผือก อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นพระมหาเถระที่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย งดงาม และรักสันโดษตามแบบของสมณะในสายพระธุดงคกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านเป็นลูกศิษย์คนสำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู
ชีวิตในปฐมวัยของหลวงปู่วิไลย์เติบโตมาด้วยความยากลำบาก พ่อเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก ต่อมาแม่ของท่านก็แต่งงานใหม่กับพ่อใหม่ ท่านจึงมีพี่น้องรวมกันทั้งหมด ๑๒ คน ในบรรดาพี่น้องทั้งหมดท่านรู้สึกว่าท่านมีความทุกข์มากที่สุด ต้องทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำช่วยเหลือครอบครัว หาอยู่หากินด้วยความอัตคัดขัดสน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านไม่เคยลืม แต่ก็ไม่ได้โทษโชคชะตาชีวิตนั้น ท่านกลับนำความทุกข์ยากลำบากนี้มาสอนตัวเองถึงภัยของการเกิดว่า สมน้ำหน้าตัวเองที่เกิดมา ถ้าทุกข์มากไปกว่านี้ได้ก็ยิ่งดี
เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ท่านได้รับการบรรพชาอุปสมบทในวัดฝ่ายมหานิกาย แต่ก่อนเข้าพรรษา ท่านได้แปรญัตติมาเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ในเขตวิสุงคามสีมา วัดศรีจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๐๑ โดยมีพระวินัยสุนทรเมธี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาศรี ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาเขียน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมิโยภิกขุ”
หลังจากออกพรรษาแรก หลวงปู่วิไลย์ได้ออกเดินทางไปทางทิศเหนือเพื่อแสวงหาครูบาจารย์ตามนิมิตที่ท่านได้ จนมาพบและเข้าฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล ได้มีโอกาสศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ฝึกหัดจิตภาวนา และอุปัฏฐากหลวงปู่ขาว เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี ซึ่งหลวงปู่วิไลย์มีความเคารพรักในองค์หลวงปู่ขาวเหมือนดั่งบุตรแท้ๆ ต่อบิดา ท่านมักกล่าวถึงหลวงปู่ขาวว่า เป็นผู้มีความสงบและเปี่ยมด้วยเมตตาอย่างไม่มีใครเทียบได้ ให้ทุกสิ่งทุกอย่างในความรู้ในธรรมคำสอนที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาจิตใจได้ จนหลวงปู่วิไลย์เกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง และหวังที่จะมุ่งปฏิบัติเพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้
หลังจากพรรษาที่ ๑๒ หลวงปู่วิไลย์ได้ออกจากวัดถ้ำกลองเพล เพื่อแสวงหาที่สัปปายะในการเจริญสมณธรรม ด้วยความที่ท่านมีอุปนิสัยรักสันโดษ จึงได้เที่ยววิเวกไปอยู่ตามภูตามเขาตามถ้ำต่างๆ ในเขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และเพชรบูรณ์ จนท้ายที่สุดในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านได้มาอยู่ประจำที่ถ้ำพญาช้างเผือก อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
การมาอยู่ที่ถ้ำพญาช้างเผือกนี้ มีอุปสรรคและความท้าทายที่เข้ามาทดสอบจิตใจของท่านมากมาย ทั้งในเรื่องของความยากลำบากในการอยู่การฉัน และการทำงานพัฒนาสภาพถ้ำให้เป็นวัด ในขณะที่ต้องทำความเพียรทางด้านจิตภาวนาไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่หลวงปู่เป็นผู้มีอุปนิสัยเด็ดเดี่ยวแน่วแน่และเกรงใจคน ท่านจึงถือเอาหลักพึ่งพาตัวเอง ไม่ขอให้ผู้อื่นช่วยเหลือเกินความจำเป็นจนทำให้เขาเดือนร้อน หากเขาจะช่วยก็ช่วยเองตามกำลังของเขา ส่วนตัวท่านเองก็มุ่งมั่นพัฒนาวัดและจิตใจของตนด้วยความวิริยะอุตสาหะ โดยมีศรัทธาพละ ความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นกำลังใจ จนสุดท้ายท่านเป็นผู้เปี่ยมด้วยบารมีธรรมอันสมบูรณ์ ส่วนวัดก็มีเสนาสนะพร้อมและสวยงามดังที่เห็นในปัจจุบัน
หลวงปู่วิไลย์ เขมิโย เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตลอดช่วงเพศบรรพชิตของท่าน แม้มีผู้ที่รู้จักท่านไม่มากนักเนื่องจากท่านเป็นผู้มีปฏิปทาอันเรียบง่ายและชอบปลีกเร้นตัวอย่างสมณะ แต่ผู้ที่ได้มีประสบการณ์ตรงกับท่านจะได้สัมผัสถึงเมตตาธรรมอันอบอุ่นและความสงัดกายสงัดใจอันเยือกเย็นของท่าน ส่วนในเรื่องการสอนท่านเน้นจิตภาวนาเป็นสำคัญ ท่านใช้คำสอนง่ายๆ ที่เข้าใจได้และเปี่ยมด้วยนัยความหมายอันลุ่มลึก ตามแบบพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายพระป่าทั้งหลาย