สังขารทั้งหลาย จะเป็นรูปสังขาร นามสังขาร ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ผู้ใดมาภาวนาเพียรเพ่งดูให้เห็นแจ้ง ทั้งรูปขันธ์ และทั้งนามขันธ์ ว่าอะไรทั้งหมดนั้นแหละ มันแสดงอนิจจาลักษณะอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่า นามรูปังอนิจจัง รูป นาม กาย ใจของมนุษย์ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ไม่ว่าแต่เรื่องกายมนุษย์นี้ แม้จะใหญ่ขนาดท้องฟ้าก็ตาม ก็แสดงถึงความไม่เที่ยงทั้งหมด เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แต่ว่าของใหญ่มันก็แตกดับช้าไปหน่อย ของเล็กมันก็แตกดับเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ง่าย มีอยู่อย่างนี้ มันเที่ยงที่ไหน ถ้ามันเที่ยงก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป
ที่มันแก่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วย มันแตกมันตายได้ ก็แสดงถึงว่ามันไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นเอง
นามรูปังทุกชัง นามและรูปเป็นทุกข์ เมื่อมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอมันก็ทุกข์ จิตมันก็จะเอาให้ได้ตามใจหวัง เมื่อไม่ได้ตามใจหวังมันก็ทุกข์จิตทุกข์ใจขึ้นมาภายใน
ต้องตามรู้เห็นว่า รูป นาม กาย ใจ คน สัตว์ วัตถุธาตุทั้งหลายทั้งหมดทั้งมวลนี้
จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เก่าใหม่อะไรก็ตาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา นามรูปไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อไม่ใช่ของเรา แล้วมันเป็นของใคร เป็นของกลาง เป็นของกลางโลก กลางแผ่นดิน จิตอย่ามาหลงยึดเอาถือเอา
ประวัติและปฏิปทา
พระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร (๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ - ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๕) สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นามเดิม สิม วงศ์เข็มมา ชาวจังหวัดสกลนคร เป็นพระวิปัสสนาจารย์สายอรัญวาสี ผู้ทรงธุดงควัตรและมีศีลาจารวัตรงดงาม ลูกศิษย์รุ่นอาวุโสของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่ท่านเคยพยากรณ์ไว้ว่า “เป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใดจะหอมกว่าหมู่”
หลวงปู่สิมเป็นผู้มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังเด็ก โดยบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า “สิม” ที่มีความหมายว่า “โบสถ์” ในภาษาอีสาน ท่านเองเป็นผู้มีบารมีธรรมที่ได้สะสมมาจากอดีตชาติ คือมีมรณานุสติประจำใจ มีความสะดุ้งกลัวต่อความตายอยู่เสมอ อันเป็นเหตุให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ในวัดฝ่ายมหานิกาย ต่อมาท่านได้มีโอกาสไปฟังธรรมและสังเกตข้อวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต กับคณะศิษย์ จนเกิดความประทับใจ และขอญัตติเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุตที่โบสถ์น้ำชั่วคราว วัดศรีสงคราม โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระปัพพชาจารย์
ต่อมาเมื่อมีอายุครบบวช ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีจันทราวาส อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีเจ้าคุณเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพรรษาแรก หลวงปู่สิมได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าบ้านเหล่างา) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นผู้ดูแลและอบรมธรรม เนื่องจากที่วัดนี้อยู่ในเขตป่าช้า ท่านจึงได้โอกาสถือธุดงค์ข้ออยู่ป่าช้าเป็นวัตร และพิจารณาอสุภกรรมฐานจากซากศพอยู่เสมอ
ในพรรษาที่ ๘ ท่านได้ติดตามสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) มาศึกษาพระธรรมวินัย วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ และได้มีโอกาสอบรมการปฏิบัติกรรมฐานให้กับพระเณรเป็นจำนวนมาก จากนั้นท่านก็ได้จาริกธุดงค์ไปตามป่าเขาและยอดดอยในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ สกลนคร เพชรบูรณ์ นครพนม และเชียงใหม่ มีหลายครั้งที่ท่านได้รับฟังโอวาทธรรมเพิ่มเติมจากพระอาจารย์มั่น จนการปฏิบัติธรรมของท่านก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ ต่อมาเมื่อท่านอาวุโสขึ้น หลวงปู่ได้ไปอยู่ช่วยดูแลวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ และวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ในตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส ตามคำร้องขอของคณะสงฆ์ แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วท่านปรารถนาที่จะอยู่ในที่สงบสงัดตามป่าเขาก็ตาม เมื่อท่านชรามากขึ้นและมีอาการอาพาธหลายโรค จึงได้ลาออกจากหน้าที่บริหารวัดทุกตำแหน่ง และมาจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำผาปล่องเป็นการถาวร ซึ่งต่อมาท่านได้พัฒนาบริเวณถ้ำให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และได้เทศนาสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร และฆราวาส ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ให้ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนมาก ตราบจนคืนสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขาร
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร นับว่าเป็นเพชรน้ำเอกในวงพระธุดงคกรรมฐานอย่างแท้จริง นอกจากท่านจะมีปฏิปทาเป็นเลิศทางด้านธุดงควัตรและการพิจารณาอสุภกรรมฐานแล้ว ยังมุ่งมั่นสร้างประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากมายตลอดชั่วอายุขัยของท่าน หลวงปู่เป็นประธานในการสร้างวัดหลายแห่ง อาทิ วัดสันติสังฆาราม จังหวัดสกลนคร และวัดสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่ และได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแผ่ธรรมในอีกหลายทวีปทั่วโลก