ที่เราทั้งหลายต้องการความสุขก็เพื่อให้ดับทุกข์ เพื่อระงับทุกข์ เพื่อบรรเทาทุกข์นี่เอง ทุกข์ที่มีอยู่ตรงไหนเราก็พยายามหาความสุขเพื่อมาต่อรองกับทุกข์ ให้มันเบาบางเพื่อให้มันสงบระงับไป
ถ้าทุกข์ไม่มีล่ะ ความสุขก็ไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลายเป็นคู่กันอย่างนี้
เพราะฉะนั้นใน “สัจจะ” ความจริง ที่พระพุทธเจ้าที่พระองค์พบเรื่อง “ทุกข์” ท่านจึงสอนให้รู้ด้วย “ปริญเญยยธรรม” รู้ทั่วถึง รู้รอบคอบ รู้อย่าให้มันมีเศษเหลือ ทุกข์มีประมาณเท่าไร ให้รู้ว่ากำหนดรู้ทั้งหมดทุกข์ก็เป็นของจริง เป็นสัจจะในส่วนของทุกข์
แต่ทุกข์เหล่านั้นไม่ใช่เป็นของที่ธาตุแท้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมันมาจาก “เหตุ” คือ “สมุทัย”
ประวัติและปฏิปทา
พระโพธิธรรมาจารย์เถร หรือ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ (๒๙ สิงหาคม ๒๔๖๒ - ๕ เมษายน ๒๕๔๕) วัดป่าเขาน้อย อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นามเดิม อุ้ง ทองศรี ชาวจังหวัดสุรินทร์ เป็นพระเถระในวงศ์พระธุดงคกรรมฐานที่มักน้อยสันโดษ มีข้อวัตรปฏิบัติงดงาม รักษาธุดงควัตรด้วยดี ชอบปลีกวิเวกตามป่าเขาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ท่านเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร คุณธรรมของท่านเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาสานุศิษย์ และได้รับฉายานามว่า “พระอริยเจ้าผู้หลุดพ้นด้วยอิริยาบถเดิน”
หลวงปู่สุวัจน์มีใจฝักใฝ่ในทางธรรมมาตั้งแต่ยังเด็ก ท่านมีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องตรากตรำช่วยบิดามารดาทำงานและเลี้ยงน้องๆ จนจิตใจท่านมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายที่ตกทุกข์ได้ยาก วันหนึ่งท่านได้พบกับพระธุดงคกรรมฐาน ได้เห็นกิริยาท่าทางน่าเลื่อมใส จึงเกิดศรัทธาตั้งความปรารถนาว่า “เราต้องออกบวชเป็นพระธุดงค์แบบนี้” ต่อมาอีกวันหนึ่งท่านได้ไปช่วยหญิงท้องแก่ข้างบ้าน ในตอนนั้นไม่มีใครอยู่บ้านเลย จึงช่วยเขาทำคลอดด้วยตัวเอง ได้เห็นทั้งความทุกข์จากความเกิดที่ไม่มีอะไรเทียบได้ ได้เห็นทั้งความน่าสังเวชจากความสกปรกของร่างกายมนุษย์ จึงเกิดความเบื่อหน่ายและเห็นโทษในกามขึ้นมา และได้ตั้งไว้ในใจว่า “สักวันหนึ่งเราจะต้องออกบวชอย่างแน่นอน”
เมื่ออายุ ๑๙ ปี ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดกระพุมรัตน์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ แต่บวชอยู่ได้เพียง ๑ พรรษา ก็จำเป็นต้องลาสิกขา เนื่องจากถึงฤดูเก็บเกี่ยวพอดี จนอายุได้ ๒๐ ปี ท่านได้รับการอุปสมบทที่วัดกระพุมรัตน์ โดยมีพระครูธรรมทัศน์พิมล (ดัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในการบวชเป็นพระฝ่ายมหานิกายนี้ มีเพียงการศึกษาทางด้านปริยัติเท่านั้น ไม่ได้มีการปฏิบัติภาวนาตามที่ท่านได้ตั้งใจไว้ ท่านจึงออกแสวงหาครูบาอาจารย์ และพบกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าศรัทธารวม จังหวัดนครราชสีมา ได้ฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อมุ่งหวังความก้าวหน้าในการปฏิบัติภาวนา และได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา ขณะอายุได้ ๒๒ ปี เมื่อได้ญัตติแล้ว ท่านได้จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติกับหลวงปู่ฝั้น และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ท่านได้ตั้งปณิธานในการครองสมณเพศไว้ว่า จะอดทนหนักแน่นมั่นคงในการปฏิบัติภาวนาจนเกิดสติปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง และมีจุดมุ่งหมายคือความพ้นทุกข์เท่านั้น
หลังจากออกพรรษาที่ ๒ หลวงปู่สุวัจน์ได้ติดตามพระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก เที่ยววิเวกไปหลายจังหวัดในภาคอีสาน ได้พบและรับฟังโอวาทธรรมจากครูบาอาจารย์สำคัญหลายท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย หลังพรรษาที่ ๔ ท่านได้เดินธุดงค์ขึ้นเทือกเขาภูพานเพื่อไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น เมื่อท่านได้รับอุบายการปฏิบัติจากหลวงปู่มั่นพอสมควร ก็กลับไปอุปัฏฐากดูแลหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อทดแทนคุณในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี เมื่อออกพรรษาท่านก็จะไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ที่วัดบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งหลวงปู่ละสังขารในปี ๒๔๙๒
หลวงปู่สุวัจน์รักความสันโดษ ไม่ชอบคลุกคลีในหมู่คณะ จาริกธุดงค์ไปผู้เดียวตามสถานที่วิเวกต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ หลังจากปี ๒๕๑๔ ท่านมาประจำที่ถ้ำศรีแก้ว อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร โดยเห็นว่าเป็นที่สัปปายะและเริ่มต้นการพัฒนาบริเวณโดยรอบให้เป็นสำนักสงฆ์ ในช่วงนี้ ท่านพาคณะศรัทธาทำข้อวัตรอย่างเข้มข้น เทศนาสั่งสอน นำปฏิบัติภาวนาทั้งนั่งสมาธิและเดินจงกรมตลอดคืนเป็นประจำ
วันหนึ่ง ในระหว่างที่ปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำศรีแก้วนี้เอง ท่านเร่งภาวนาเพื่ออยากจะให้รู้จักกับคำว่านิโรธ จนจิตสงบ เห็นและต่อสู้กับสัญญา-เวทนา ในขณะที่เดินกลับกุฏินี้เอง สัญญา-เวทนาได้ถอนออกเหมือนทิ้งดิ่งลงเหว เป็นการพลิกจิตคว่ำอวิชชา หมดสิ้นแล้วกิจที่จะทำ แม้แต่จิตก็ทำลาย แม้แต่มรรคก็ทำลาย ไม่เหลืออะไรเลย เหลือเพียงความบริสุทธิ์เท่านั้น นับได้ว่าท่านเป็นพระแท้ในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติกิจส่วนตนจนเข้าถึงการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นผู้มีผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่านเป็นร่มไทรให้กับชาวพุทธโดยทั่วไป ท่านจะเมตตาโปรดญาติโยมด้วยการเทศนาสอนธรรมและนำปฏิบัติภาวนาอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงที่ทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ ท่านได้เป็นผู้นำในการสร้างวัดป่ากรรมฐานมากมาย อาทิ วัดวอชิงตันพุทธวนาราม วัดป่าธรรมชาติ วัดภูริทัตตวนาราม และวัดเมตตาวนาราม ในประเทศสหรัฐอเมริกา หลวงปู่สุวัจน์เป็นผู้หนักแน่นอดทนต่อกิจการสงเคราะห์โลกและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ควรค่าแก่การจดจำเป็นแบบอย่างสืบไป