เมื่อแต่ก่อน ภาวนาแน่วแน่ แต่ปฏิภาค แต่ธาตุ แต่ไม่แน่วแน่ทางจิต เดี๋ยวนี้แน่วแน่ทางปฏิภาคด้วย แน่วแน่ทางจิตด้วย ความรู้อริยสัจ จึงแม่นยำดีกว่าเก่านั้นมาก จิตสละตายลงไปถึงอมตธรรม
แต่ก่อนสละตายลงไปไม่ได้ เกิดกลัว เพราะภูมิสมถะและวิปัสสนาไม่พร้อมสามัคคีกัน
เมื่อภาวนาพิจารณาแยบคายแล้วสังขารโลกปลงให้เขาเสีย แล้วแต่เขาจะแก่ เจ็บตาย เป็นเรื่องของเขา รีบเดินมรรคให้พ้นไปจากสังขารโลก เพราะสังขารโลกเป็นภัยใหญ่โต จะอยู่ไปก็เป็นเรื่องของเขา จะตายก็เป็นเรื่องของเขา แต่ภาวนาความรู้ความเห็นใน อมตธรรม นั้นให้มากนั้นเองเป็น วิหารธรรม ที่พึ่งของจิต
เมื่อตายแล้วนั้นเอง จะไปเกิดในที่ดี แปลว่า ไม่อุทธรณ์ร้อนใจในความแก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเรื่องของสังขาร
เมื่อรู้เท่าแล้ววางเฉย เป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้ามีความรักความชังอยู่... นั้นเองเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะยินดียินร้ายในเรื่องนั้น แปลว่า เจ็บ แสบ ร้อน ไปด้วยเขา จึงเป็นทุกข์
ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร (๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ - ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๒) วัดถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย นามเดิม วอ วรบุตร ชาวจังหวัดเลย เป็นพระสุปฏิปันโน ศิษย์สำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต บูรพาจารย์แห่งพระสงฆ์ฝ่ายอรัญญวาสีในยุคปัจจุบัน ท่านมักได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เรียบร้อยอ่อนโยน เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม แต่มีความเพียรกล้า และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างมาก ท่านมีชื่อเสียงทางด้านการสอน “วิชาม้างกาย” หรือการพิจารณาร่างกาย ที่ท่านเองได้บำเพ็ญเพียรอย่างยิ่งยวดอยู่เสมอ
หลวงปู่หลุยเป็นผู้มีปัญญาบารมีมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อท่านอายุ ๗ ขวบ บิดาของท่านได้เสียชีวิตไป ทำให้ครอบครัวเกิดความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก วันหนึ่งท่านไปนั่งอยู่คนเดียว มองดูกระแสน้ำที่ไหลผ่าน ท่านก็น้อมเข้ามาเป็นอุบายได้ว่า ชีวิตคนที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นกัน ผ่านไปแล้วก็ไม่มีวันจะไหลย้อนกลับ ท่านนั่งนิ่งดูกระแสน้ำไหลจนจิตวูบลงสู่ภวังค์ มีนิมิตเห็นแสงสว่างจ้า จิตถามว่าแสดงอะไร และใจก็รู้ขึ้นมาอีกว่า ต่อไปจะต้องบวช บวชแบบกรรมฐาน และจะเริ่มเป็นคนมีชื่อเสียง แต่เมื่อท่านเข้าสู่วัยรุ่น ด้วยความที่อยากจะประชดมารดาที่ไม่ยอมส่งท่านไปเรียนต่อ จึงได้หันมาเข้าโบสถ์และเปลี่ยนมานับถือศาสนาศริสต์อยู่ ๕ ปี ในช่วงนี้ลุงของท่านจึงตั้งชื่อใหม่ให้ว่า “หลุย” เหมือน “เซนต์หลุย” นั่นเอง
ต่อมาเนื่องจากท่านเห็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่บ่อยๆ จึงเกิดความสลดสังเวชและหันกลับมานับถือศาสนาพุทธอีกครั้ง ประกอบกับที่ชีวิตในการทำงานราชการมีแต่เรื่องน่าอึดอัดใจ หลวงปู่หลุยจึงตัดสินใจลาออกและอุปสมบทเป็นพระฝ่ายมหานิกายที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี โดยตั้งใจบวชอุทิศแผ่เมตตาให้กับชีวิตสัตว์ต่างๆ ส่วนหนึ่ง เมื่อบวชแล้วหลังพรรษาแรกท่านมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวโร จนเกิดความเลื่อมใส พระอาจารย์ท่านจึงได้ให้ญัตติเป็นพระธรรมยุตและติดตามท่านไปรับโอวาทธรรมจากพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ด้วยยังมีความสงสัยว่าการญัตติครั้งแรกไม่สมบูรณ์ ท่านจึงได้เข้าญัตติจตุตถกรรมใหม่อีกครั้งที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์
จากนั้นหลวงปู่หลุยก็จำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์บุญอยู่หลายปี ได้ทำอาจริยวัตรอุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์ด้วยวิริยะอุตสาหะจนท่านละสังขารไป เมื่อหมดภาระหน้าที่แล้ว ท่านก็ออกวิเวกปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานเรื่อยมา นิสัยของหลวงปู่เป็นผู้อยู่ง่ายไปเร็ว คืออยู่อย่างสมถะและไม่ติดสถานที่ ท่านได้จาริกไปยังหลายพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคกลาง ในพรรษาที่ ๖ ท่านได้จำพรรษาร่วมกับลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นที่สำคัญสององค์ คือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี จากเหตุการณ์สำคัญในครั้งนี้ทำให้ทั้งสามได้กลายมาเป็นกัลยาณมิตรที่เกื้อกูลต่อกันในทางธรรมเป็นอย่างดีต่อไป
ที่บ้านโพนงาม จังหวัดสกลนคร หลวงปู่ได้อุบายการพิจารณากายจากแม่ชีสองท่าน ที่หลวงปู่ปฏิบัติต่อเนื่องมาและนำมาสอนในภายหลัง เรียกว่า “วิธีการม้างกาย” ในช่วงนั้นท่านเร่งความเพียรอยู่ในป่า ฝึกแยกรื้อถอนกายออกไปเป็นส่วนๆ ปฏิบัติไปอย่างลืมวันลืมคืน จนท่านมีความชำนาญคล่องแคล่ว หากได้ม้างสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะแตกแยกละเอียด ไม่ว่าสิ่งของ สัตว์ หรือบุคคล
หลังจากนั้นการปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่หลุยก็เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ แต่ผ่านมาหลายปี ก็ยังมีอุปสรรคบางอย่างที่ท่านเองยังไม่ค้นพบ ทำให้ท่านไม่สามารถเข้าถึงธรรมที่ควรได้ จนท่านได้อุบายธรรมจากหลวงปู่ขาว ทำให้ท่านกลับมาเห็นว่า เส้นผมบังภูเขานั้นคือความปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หลวงปู่มาพิจารณาถึงโทษภัยของความปรารถนาอันเกินตัวนี้จนสามารถละได้ในที่สุด จากนั้นท่านก็จาริกแสวงหาสถานที่วิเวกและเร่งความเพียรอย่างแรงกล้าจนได้เข้าถึงธรรมขั้นสูงสุดด้วยวิชาม้างกาย ที่ถ้ำกกกอก อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในพรรษาที่ ๔๐ นี้เอง
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่ควรค่าแก่การเคารพสักการะยิ่ง ปฏิปทาของท่านนั้นนับว่าประเสริฐในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าทางด้านสติปัญญา ความกตัญญูรู้คุณ ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความประหยัดมัธยัสถ์ ความวิริยะอุสาหะ รวมถึงความทรงธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติได้อย่างงดงามที่สุด หลวงปู่เป็นนักจดบันทึกชั้นเยี่ยม โดยได้ถ่ายทอดเกร็ดประวัติและโอวาทธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์หลายท่าน โดยเฉพาะของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อันจะเป็นประโยชน์มหาศาลสำหรับนักปฏิบัติรุ่นหลังสืบไป