คำว่าใจก็คือใจบัญญัติตนเองว่าใจใจ ส่วนตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ไม่ได้บัญญัติตัวเองได้เลย เมื่อใจบัญญัติตัวเองว่าใจใจตามสมมติและปรมัตถ์แล้ว เมื่อใจไม่รู้เท่าใจตอนใดๆ แล้ว ใจก็ไม่รู้เท่าธรรมตอนนั้นๆ ก็ไม่สามารถจะปฏิบัติใจและธรรมตอนนั้นๆ ได้ ก็ต้องสงสัยใจและธรรมตอนนั้น นั้นๆ นี้ๆ ด้วย เหตุดีผลดี เหตุชั่วผลชั่ว ตอนไหนๆ ก็ต้องเป็นรางวัลของใจทั้งนั้น ใจจะปฏิเสธเหตุและผลไปทับถมทิ้งให้กายและวาจาย่อมไม่เป็นธรรมตามความจริง คล้ายๆ กับทิ้งเหตุทิ้งผลไปให้แดดๆ ลมๆ ภายนอกที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย
ความบิดพริ้วไม่รับสารภาพยอมจำนนตัวเอง เป็นเหตุให้สร้างปัญหาผูกมัดตัวเข้า กลายเป็นทาสแห่งปัญหาของเจ้าตัวทวีขึ้น เป็นสงครามดับเงาเจ้าตัวเองไม่จบสิ้น เป็นสังสารวัฏฏ์มัดตัวให้วนเวียนไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย เพราะใจไม่เพ่งดูตนอันเป็นต้นเหตุ กลายเป็นของไม่มีของเขตคือทะเลหลง เพราะทะนงตัวถือว่าตัวเป็นใจๆ แท้ๆ ตนเอาโขนสวมหัวตนไว้บัญญัติว่าใจๆ ทำให้อุปาทานแก่กล้าอาสายืนยัน สิ่งอื่นๆ เป็นธรรมชาติอยู่ตามปกติ ไม่มีอาการและพิษสงอันใด ใจเป็นผู้สร้างพิษสร้างภัยขึ้นให้เผาตัวเอง ใจจะดับพิษดับสงก็ต้องตกลงใจอยู่ที่ตัวเอง เพราะกายวาจาสร้างฟืนสร้างไฟอะไรไม่ได้
เพราะเขาไม่ได้ใส่ชื่อลือนามเขาเองว่าเขาเป็นกายเป็นวาจา ใจฟิตตัวเองขึ้นว่าใจๆ แล้วเป็นโขนสวมตนแบบอัตโนมัติ ไปบัญญัติว่าเขาเป็นกายเป็นวาจา เขาก็ไม่ตอบว่าขอรับขอรับ ขอบพระคุณล้นเกล้าแล้ว เขาก็ไม่ปัดแบบหน้านิ่วคิ้วขมวดอีกเลย และเขาก็ไม่วางเฉยด้วยประการใดๆ ทั้งปวงอีกด้วย มิหนำซ้ำใจไปยืนยันว่ากายวาจาเป็นสมบัติพัสถานของเจ้าตัวอีก กายวาจาก็ไม่รับไม่ปัดไม่อุเบกขาอีก ตกลงใจก็เสพวิชาซ่อมบ้าอยู่แต่เจ้าตัวผู้เดียว ว่าแล้วก็น่าหัวเราะใจมาก ให้พระสติพระปัญญาเป็นผู้หัวเราะ
ฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายจนไม่สามารถนับไหว จึงรู้เหนือใจไป เหนือรู้ไปไกลไม่มีตัวเป็นพิษ เราเขาดับสนิท ไม่ติดอยู่ในใจและผู้รู้ใดๆ ทุกๆ กาลอุปาทานก็แตกกระเจิง แตกเปิดเปิงไปไม่ต้องบัญญัติปฏิจจสมุปบาทก็ได้ ไม่ต้องอ้างคัมภีร์อื่นก็ได้ อ้างคำภีร์ใจก็พอฯ
ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต (๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ - ๑๙ มกราคม ๒๕๓๙) วัดภูจ้อก้อ (วัดบรรพตคีรี) อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร นามเดิม หล้า เสวตร์วงศ์ ชาวจังหวัดอุดรธานี เป็นพระเถระฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งมั่นคงต่อปฏิปทาครูบาอาจารย์ ดำรงข้อวัตรปฏิบัติและอาจริยวัตรสมบูรณ์ที่สุด มีความพากเพียรเป็นเลิศเพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ท่านเป็นศิษย์รุ่นหลังที่สำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และมีโอกาสได้อุปัฏฐากและเรียนรู้ข้อศีลข้อธรรมในช่วงบั้นปลายชีวิตของพระอาจารย์มั่น
ท่านมีจิตใจโน้มเอียงไปทางธรรมตั้งแต่ยังเด็ก ตอนอายุ ๑๒ ปี ได้มีโอกาสรับใช้พระธุดงคกรรมฐานที่มาพักอยู่แถวบ้าน จนเกิดความประทับใจ จนอายุ ๑๘ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบัวบาน อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีพระอาจารย์หนู ติสฺสเถโร เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น ท่านได้ศึกษาหนังสือธรรมใบลาน เรียนการสวดมนต์ และท่องนวโกวาทจนจบ เมื่อออกพรรษาที่ ๓ ก็ต้องสึกออกมารับการคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์ชั่วคราว จากนั้นก็กลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเดิม ท่านบวชอยู่ได้ไม่นานก็จำต้องลาสิกขาไปตามกระแสโลก ต่อมาท่านได้แต่งงานสองครั้ง พออายุได้ ๓๒ ปี จึงได้กลับมาอุปสมบทอีกครั้ง ณ วัดบ้านยาง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระครูคูณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ผ่านมาได้ ๓ พรรษา ท่านมาฝากตัวเป็นศิษย์กับเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) และได้ญัตติเป็นพระธรรมยุต ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ในช่วงแรกนี้ ท่านได้อยู่ปฏิบัติที่วัดป่าโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม จังหวัดอุดรธานี โดยมีหลวงพ่อบุญมี เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐาน
หลังออกพรรษาแล้ว หลวงปู่หล้าออกเดินทางไปศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อพบพระอาจารย์มั่น ท่านก็เปล่งวาจาถวายตัวเป็นศิษย์ด้วยความมุ่งมั่นว่า “ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ ผูกขาดทุกลมปราณ ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในทีนี้ทุกๆ องค์ด้วย” จากนั้นท่านก็ได้อยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและถวายการปฏิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ด้วยความวิริยะอุตสาหะและอ่อนน้อมอย่างที่สุด จนได้รับยกย่องว่าเป็น “ผู้เป็นดั่งเขียงเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น” หลังออกพรรษานั้น ท่านก็ได้ออกติดตามพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน จาริกธุดงค์ไปตามป่าเขาเพื่อสะสมพละอินทรีย์ หลังจากนั้นก็กลับไปถวายการปฏิบัติพระอาจารย์มั่น จนท่านมรณภาพในปลายปี ๒๔๙๒ ในพรรษาต่อมา ท่านได้ออกติดตามหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ไปจำพรรษาที่ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และได้มีโอกาสไปบำเพ็ญภาวนาตามถ้ำ ภูเขา และป่าช้า ในจังหวัดภูเก็ต พังงา และตรัง ท่านใช้วิธีการเดินธุดงค์ ค่ำไหนก็พักทำความเพียรภาวนาที่นั้น เมื่อได้เวลาอันควรก็กลับภาคอีสาน โดยไปอยู่เรียนรู้ธรรมกับพระอาจารย์มหาบัว ที่วัดบ้านห้วยทราย (หรือวัดวิเวกวัฒนาราม) จังหวัดมุกดาหาร
ปี ๒๕๐๐ หลวงปู่หล้ารับนิมนต์มาพำนักที่ภูจ้อก้อ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร การมาอยู่ในครั้งแรกนั้น แม้ว่าสภาพพื้นที่ร่มรื่น ทิวทัศน์งดงาม แต่ก็มีปัญหาอัตคัดเรื่องน้ำเพราะตั้งอยู่บนภูเขา ซึ่งท่านก็ให้เหตุผลในการตั้งจำอยู่ที่นี่ว่า “บุคคลผู้จะถึง สุคโต ได้ก็ต้องผ่าน ทุกขโต มาเต็มที่ก่อน มิฉะนั้นการเข็ดหลาบในสงสารก็ไม่ชัดได้” จึงเป็นอุบายขัดเกลากิเลสพระเณรผู้มาพำนักอยู่ด้วยไปในตัว หลวงปู่เป็นผู้นำศรัทธาในการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นวัดอบรมกรรมฐาน ซึ่งท่านเป็นผู้มีปฏิภาณโวหารในการแสดงธรรมได้อย่างลึกซึ้งจับใจ จึงทำให้มีลูกศิษย์ทั้งนักบวชและฆราวาสมาเข้าศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก นับเป็นการสร้างมรดกในพระพุทธศาสนาทั้งทางศาสนวัตถุและศาสนทายาท
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นวิปัสสนาจารย์ร่วมสมัย ผู้ทรงธรรมวินัย ทรงข้อวัตรปฏิบัติได้อย่างงดงามที่สุด ท่านมีความเพียรเป็นเลิศ นอบน้อมต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้มีพระคุณ และอบรมธรรมแก่พุทธศาสนิกชนด้วยเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ ท่านได้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาจนห้วงสุดท้ายแห่งชีวิต ควรแก่การจดจำเป็นแบบอย่างสืบไป