ให้ท่านเพ่งดู กำหนดสติรู้ในรูปขันธ์ ในสภาวะรูป สภาวะผลัก สภาวะไหว
เมื่อกำหนดรู้ไปๆ จนสมาธิตั้งมั่น ดำรงการกำหนดรู้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย จนสติผู้รู้นั้นหยุดไปขาดไปในทันทีทันใด การหยุดไปเช่นนี้ คือ พระนิพพาน
เมื่อรูปธรรมหยุด นามธรรมซึ่งอาศัยรูปก็หยุด เมื่อนามธรรมได้ขาดหายไปทันทีทันใดนั้น นั่นคือ มรรค
สิ่งสำคัญคือ เมื่ออวิชชาดับหายไป มิจฉาก็ขาด ที่อยู่เดิมของอวิชชา ก็กลายเป็นที่อยู่ของวิชชา เมื่อวิชชาเกิดขึ้นมาพร้อม สัมมา สัมมาก็เกิดขึ้นพร้อม ทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ โดยนัยนี้
ประวัติและปฏิปทา
ชื่อเต็มของท่านคือ บุดดันดะ อูเตชนียะ แต่ลูกศิษย์และคนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า ท่านอาจารย์อูเตชนียะ ท่านอูเตชนียะ เกิดในตระกูลชาวพุทธ อาชีพทำนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปี จุลศักราช ๑๒๗๗ บิดาชื่อ อูส่วยจี มารดาชื่อ ตอเต่เม่ย บิดาของท่านถึงแก่กรรมเมื่อท่านอายุได้ ๙ ปี ชื่อเดิมของท่านคือ หม่องตวิ่น ถิ่นกำเนิดของท่านคือบ้านยวากะเล จังหวัดปะโก แล้วไปเติบโตที่ เมืองฮันดาดะ จังหวัดปะโก ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๔ คน ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตทั้งหมดแล้ว ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ เป็นคนสุดท้อง ในวัยเด็กมารดาของท่านไม่ค่อยจะมีโอกาสในการบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา เพราะต้องรับภาระหนักในการเลี้ยงดูลูกๆ ถึง ๕ คน
อายุ ๑๒ ปี ท่านได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรตามประเพณี ที่วัดเซชิตายามะ เมืองบวากะเล จังหวัดปะโก โดยมารดาของท่านอนุญาตให้บวชได้เป็นเวลา ๓ ปี แล้วปรากฏว่าท่านเกิดธรรมสังเวช จึงขออนุญาตมารดาของท่านอยู่เป็นสามเณรต่อไปอีก
อายุ ๑๙ ปี ได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เซซิตายามะ เมืองยวากะเล จังหวัดปะโก พระอุปัชฌาย์ของท่านชื่อ อูวิเสจะ
อายุ ๒๑-๓๕ ปี เรียนพระปริยัติธรรมที่วัดอู่จี่ เมืองมัณดะเล จังหวัดมัณดะเล จนจบ
อายุ ๓๖ ปี เรียนสมถะกรรมฐานกับอาจารย์อูส่ากะระ เป็นเวลา ๑๙ วัน โดยการฝึกหายใจเข้าออกแรงๆ อยู่ตลอดเวลา ทดลองดูแล้วไม่ถูกกับจริตนิสัยของท่านและไม่เกิดปัญญา จึงเสาะแสวงหาอาจารย์ต่อไป จนได้พบกับท่านอาจารย์อาจารย์ญานส่ากี ซึ่งเป็นพระภิกษุและเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อและมีคุณธรรมสูง เป็นที่เคารพนับถืออย่างมากในเวลานั้น สำนักของท่านตั้งอยู่ที่เมืองมะยางโก จังหวัดย่างกุ้ง ท่านอูเตชนียะได้ฝึกหัดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและพักอยู่ที่นี่เป็นเวลาถึง ๖ ปี ท่านกล่าวว่าการปฏิบัติธรรมของท่านดีที่สุดเมื่อตอนอายุ ๓๖ คือในช่วงระยะเวลาแรกของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
อายุ ๔๒ ปี ท่านได้กราบลาอาจารย์ญาณส่ากี ย้ายไปตั้งวัดด้วยตนเองอีกแห่งหนึ่งในเขตเมืองมะยางโกเช่นกัน โดยตั้งชื่อวัดของท่านว่า วัดพุทธวาที และเริ่มสอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่ศรัทธา ญาติโยม ตลอดจนพระภิกษุสามเณร ที่มาจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน
อายุ ๗๘ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ท่านได้รับการเลื่อนยศ ถวายการแต่งตั้งเป็นตำแหน่งอัครมหากัมมัฏฐานาจริยะ หรืออาจารย์สอนกัมมัฏฐานสูงสุด จากคณะสงฆ์ประจำประเทศ
อายุ ๘๓ ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ มีแม่ชีจากเมืองไทย ชื่อแม่ชีบุญพร้อม อติรัตน์ ได้เข้าไปฝึกหัดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดของท่านในช่วงเข้าพรรษา เกือบ ๓ เดือน ก่อนเดินทางกลับเมืองไทย แม่ชีได้นิมนต์ท่านเดินทางไปเมืองไทยเพื่อจาริกสั่งสอนธรรม เผยแพร่วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางที่ท่านได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติมา และแผ่เมตตาโปรดศรัทธาสาธุชนในประเทศไทยบ้าง เพื่อให้วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อันประเสริฐยิ่ง ลัดสั้น เรียบง่าย ไม่มากมายไปด้วยปริยัติบัญญัติและพิธีรีตรองนี้ได้เผยแผ่กว้างออกไปให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์และความสุขอันแท้จริงแก่ชาวโลก
อายุ ๘๕ ปี เมื่อวันอังคารที่ ๙ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ ตรงกับคริสตศักราชที่ ๒๐๐๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะเส็ง เวลา ๑๘.๐๐ น. ท่านอาจารย์อูเตชนียะได้เดินทางเข้ามาถึงสนามบินเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยเครื่องบินของสายการบินมัณดะเล ภายใต้การประสานงานของคุณมิตร และ ดร.เพ็ญสุภา ได้รับความกรุณาจากท่านอู อาสภะ เจ้าอาวาสวัดทรายมูล (เมียนมา) ส่งพระอูวิริยะลูกวัดของท่านมาเป็นล่ามแปลภาษาเมียนมาเป็นภาษาไทยให้ ท่านอาจารย์และคณะพักที่บ้านของคุณกมลและคุณขวัญเรือน ๑ คืน พักที่วัดเจดีย์หลวงโดยความเมตตาของท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก ๑ คืน พักที่วัดถ้ำดอยโตน โดยความกรุณาของท่านอาจารย์นาวี ๒ คืน และพักที่บ้านของคุณไมตรี สองสามีภรรยาแห่งบ้านสักไทยอีก ๑ คืน หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๔ ไปเปิดการอบรมวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นครั้งแรกที่สวนธรรมหาดเสลา อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ ๑๕-๒๑ มกราคม ๒๕๔๔ ครั้งที่ ๒ จะจัดที่วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔ ถึง ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวการสอนของท่านอาจารย์อูเตชะนียะ เป็นการปฏิบัติที่สมเด็จพระโคตะมะสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเมตตาสั่งสอนในพุทธสมัย และถ่ายทอดสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโดยท่านอาจารย์เน้นสอนพิจารณาเรื่อง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รูป-นาม ที่เกิดขึ้น ให้รับรู้การเกิดสภาวะธรรมของรูป-นาม โดยใช้สติปัญญาพิจารณาในการเกิดสภาวธรรมจนเข้าถึงวิมุตติธรรมด้วยตนเอง