จิตเมื่อไม่รู้เท่าแล้วก็เป็นทุกข์บัดนี้ จิตก็หวั่นไหวไปตามกับขันธ์ ๕ นั้น ถ้าจิตรู้เท่า จิตก็ไม่หวั่นไหวตั้งมั่น กำหนดรู้เท่าทุกข์นั้นอยู่เสมอบัดนี้นะ
ใจตั้งมั่นแล้ว ขันธ์ ๕ ต่างหากมันเป็นทุกข์ ทุกข์ไม่ได้มีอยู่ในเรา เราไม่ได้มีอยู่ในทุกข์ เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเราแล้ว ทุกข์ก็ไม่ใช่ของเรา นี่ก็ต้องสอนใจตัวเองเข้าไปอย่างนี้ มันก็เป็นความจริงนี่
ถ้ามันไม่มีขันธ์ ๕ นี้อยู่อาการแปรปรวนอย่างนี้มันก็ไม่มี นี่มันต้องพิจารณาให้ดี เพราะเมื่อมันมีขันธ์ ๕ นี่แหละ ความแปรปรวนหวั่นไหวไปมามันจึงปรากฏขึ้น
ถ้ามีแต่ “รูป” อย่างนี้นะ ไม่มี “นามธรรม” อยู่ในนี้ มันก็ไม่รู้สึกร้อน หนาว เจ็บปวดอะไรเลย มีแต่รูปอย่างเดียว นามไม่มี เป็นอย่างนั้น
ประวัติและปฏิปทา
พระสุธรรมคณาจารย์ หรือ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (๘ มกราคม ๒๔๕๕ - ๕ มิถุนายน ๒๕๔๘) วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย นามเดิม เหรียญ ใจขาน ชาวจังหวัดหนองคาย เป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แม่ทัพธรรมสายอรัญวาสี ท่านมีจิตใจมั่นคงดั่งสาแหรก มุ่งมั่นเพียรเผากิเลสตามแนวทางของครูบาจารย์เพื่อการหลุดพ้น ท่านเป็นผู้มีปฏิปทาภายนอกเยือกเย็น มีชีวิตและความเป็นอยู่เรียบง่าย แต่ภายในแข็งแกร่งดุจเพชร เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและธุดงควัตร
สมัยวัยหนุ่ม หลวงปู่เหรียญเป็นผู้ตั้งใจทำงานและคิดจะแต่งงานมีครอบครัวเหมือนฆราวาสทั่วไป แต่ท่านมาเกิดความสังเวชในชีวิตที่มีแต่การทำงานวุ่นวายไม่จบสิ้น เต็มไปด้วยทุกข์สลับกับสุขที่ไม่ยั่งยืน เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดบ้านหงส์ทอง อำเภอท่าย่อ จังหวัดหนองคาย โดยมีพระครูวาปีดิษฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วได้ลองผิดลองถูกฝึกอนุสสติ ๑๐ และกายานุปัสสนา ด้วยตนเอง จนกระทั่งได้พบกับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม เป็นผู้สอนกรรมฐานให้ ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก และได้ญัตติเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปีแรก ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสาระวารี จังหวัดอุดรธานี หลังออกพรรษาก็จาริกธุดงค์ไปทางถ้ำผาปู่ และถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย
ในพรรษาที่ ๒ หลวงปู่เหรียญกลับมาจำพรรษาที่วัดอรัญวาสี จังหวัดหนองคาย และตั้งสัจจะอธิษฐานเร่งความเพียรอย่างหนักตลอดสามเดือน ในพรรษาที่ ๔-๕ จำพรรษาที่วัดอรัญญบรรพต จังหวัดหนองคาย ได้พิจารณาเอาขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์จนจิตเกิดความสงบคล้ายกับว่ากิเลสหมดไป อย่างไรก็ตามเวลามีเรื่องต่างๆ มากระทบ จิตยังคงหวั่นไหวอยู่ ท่านจึงออกเดินทางตามหาพระอาจารย์มั่นให้ช่วยแก้ปัญหา และพบท่านที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนั้นพระอาจารย์มั่นก็เมตตาอบรมสั่งสอนธรรมที่สำคัญต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะภัยจากการติดความสุขของสมาธิ และทางหลุดพ้นคือการพิจารณาร่างกายจนเกิดความเบื่อหน่ายในนามรูป การฟังธรรมในครั้งนั้นได้สร้างกำลังใจให้แก่หลวงปู่เป็นอย่างมาก จนท่านเห็นว่าพระนิพพานนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และหันมาเจริญปัญญาในอริยสัจสี่มากยิ่งขึ้น
ในพรรษาที่ ๖-๑๘ หลวงปู่เหรียญจำพรรษาอยู่ในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่และลำปาง มีโอกาสร่วมธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นและลูกศิษย์ท่านหลายครั้ง มีหลายคราวที่ปฏิบัติเสี่ยงภัยเอาเป็นเอาตาย เอาชนะอาการอาพาธด้วยธรรมโอสถจนเป็นที่นับถือในบรรดาครูบาอาจารย์และเพื่อนสหธรรมิก จากนั้นจึงเดินทางกลับจังหวัดหนองคายผ่านทางเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในพรรษาที่ ๑๙-๒๖ ท่านไปจำพรรษาและเผยแผ่ธรรมะอยู่ที่ภาคใต้ร่วมกับกองทัพธรรมของหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ก่อนจะย้ายกลับไปพำนักที่วัดอรัญญบรรพต จังหวัดหนองคาย เป็นการถาวร ในพรรษาที่ ๒๗
เป็นเวลากว่า ๔๐ ปีที่หลวงปู่เหรียญได้ปกครองและพัฒนาวัดอรัญญบรรพตให้เป็นสถานที่สัปปายะเหมาะสำหรับผู้มุ่งหวังการปฏิบัติภาวนาเพื่อการพ้นทุกข์ โดยยังคงสภาพความร่มรื่นของป่าไม้ตามธรรมชาติ และสร้างเสนาสนะเท่าที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการภาวนาเท่านั้น หลวงปู่เป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบและอุตสาหะในการอบรมสั่งสอนธรรม สิ่งที่ท่านสอนล้วนมาจากประสบการณ์ตรงที่ท่านได้บำเพ็ญมา ให้บรรดาศิษย์ได้ประพฤติปฏิบัติตามเพื่อการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ที่ผ่านมามีพระภิกษุสามเณรและคณะศรัทธามาเข้าร่วมปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญกุศลที่วัดเป็นจำนวนมาก
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ได้ละสังขารลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ขณะสิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี ๕ เดือน พรรษา ๗๒ ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้เคร่งในพระวินัยธุดงควัตร มีข้อวัตรปฏิบัติงดงามตามแบบปฏิปทาของครูบาจารย์พระกรรมฐาน ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอันสมบูรณ์ เบิกบานอยู่เสมอ และดำรงอยู่โดยปราศจากทุกข์ ควรแก่การจดจำเป็นแบบอย่างสืบไป