ความสงบของสมาธิ ความสงบในฌาน ไม่เหมือนกันกับความดับคือนิโรธนี้แต่อย่างใด
เพราะความสงบในสมาธิในระดับไหนก็ตาม ยังมีวิญญาณ การรับรู้ของสติอยู่นั่นเอง
ส่วนนิโรธ ความดับทุกข์นี้ ไม่มีวิญญาณการรับรู้ในสิ่งใดๆ อะไรทั้งสิ้น นั่นคือวิญญาณการรู้ไม่มีในสิ่งใดๆ
ในขณะที่มีความดับทุกข์อยู่นั้น จะมีความรู้อีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า รู้ใต้สำนึก มีความละเอียดอ่อนมาก แต่มิใช่ความรู้ที่เกิดจากวิญญาณการรับรู้แต่อย่างใด มิใช่ความรู้ที่เกิดจากรูปนามแต่อย่างใด
เป็นรู้ที่ไม่มีในสมมติ แต่เป็นความรู้เหนือสมมติ เป็นความรู้ไม่มีนิมิตหมายในสมมติใดๆ ไม่สามารถอธิบายให้เป็นไปในสมมติได้ เป็นรู้ที่มีความโดดเด่นอยู่เฉพาะรู้เท่านั้น
ความรู้นี้เหมือนไม่มีคุณค่าอะไร ไม่ไปเกาะติด อยู่ในสิ่งใดๆ เป็นรู้ไม่มีในสมมติที่จะอธิบายได้
ประวัติและปฏิปทา
พระปัญญาพิศาลเถร หรือ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ (๒๐ พฤษภาคม ๒๔๗๘ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี นามเดิม ทูล นนฤาชา ชาวจังหวัดมหาสารคาม เป็นพระวิปัสสนาจารย์และปราชญ์ทางธรรม ผู้ที่มีปฏิปทาอันสง่างาม มีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญตามแบบครูบาอาจารย์สายพระป่าของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านเป็นผู้มีปฏิภาณโวหารในการเทศนาสอนธรรมด้วยหลักปัญญาความเห็นชอบ จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของสานุศิษย์จำนวนมาก
ท่านเป็นผู้บำเพ็ญบารมีในทางธรรมมาแต่อดีตชาติ ในช่วงวัยเด็กท่านไม่ยอมกินอาหารร่วมสำรับกับผู้อื่น ไม่กินอาหารดิบและมังสะ ๑๐ อย่าง ตอนอายุ ๑๑ ขวบ ขณะนอนเล่นอยู่ได้เพ่งดูใบไม้จนจิตรวมลงสู่ความสงบในสมาธิ เมื่อคิดอยากเห็นของสิ่งใด กำหนดจิตไปดูก็จะปรากฏเห็นของสิ่งนั้นทั้งหมด ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบ้านหนองแวง จังหวัดอุดรธานี ในช่วงนั้นได้พบและปรนนิบัติพระกรรมฐานรูปหนึ่งจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงได้บวชเป็นพระบ้านที่วัดไชยนาถวราราม อำเภอไชยวาน ครั้งนั้นเป็นการบวชตามประเพณี ไม่นานก็ลาสิกขาออกมาเพราะที่วัดไม่มีการสอนการปฏิบัติภาวนา วันหนึ่งได้ไปเที่ยววัดในวันพระ ได้ฟังธรรมะเรื่อง “เกิด-ดับ” จนเกิดความซาบซึ้งและได้ใช้ปัญญาพิจารณาขยายความต่อ จากนั้นไม่นานก็ได้อุบายธรรมจากต้นมะม่วง จนเห็นประจักษ์ชัดว่า “ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และสิ่งนั้นก็ย่อมดับไปด้วยเหตุปัจจัยในตัวมันเอง”
ขณะอายุย่างเข้า ๒๗ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “ขิปฺปปญฺโญ ผู้มีปัญญารวดเร็ว” จากนั้นก็มาจำพรรษาแรกที่วัดเขมาวนาราม จังหวัดอุดรธานี การออกบวชในครั้งนี้ ท่านตั้งใจเอาไว้สูงมาก ท่านเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ทั้งอดอาหาร ทั้งเป็นไข้ ทั้งภาวนาทั้งวันทั้งคืน จนล้มสลบไปเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด ต่อมาจึงพยายามปรับการปฏิบัติของท่านให้อยู่ในทางสายกลางมากยิ่งขึ้น ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนจะออกพรรษา ญาติที่บ้านมาเยี่ยมจนทำให้ท่านเกิดอาลัยอาวรณ์อย่างหนักเพราะคิดถึงลูกของท่าน แม้ตัวท่านจะซูบผอมเพราะกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ก็เร่งภาวนาอย่างสุดกำลัง จนวันหนึ่งขณะเดินจงกรมอยู่ ท่านพิจารณาความห่วงในตัวบุคคลว่าเป็นเหตุแห่งการหมุนเวียนในวัฏฏะ จนเห็นทุกข์โทษภัยชัดเจน ความอาลัยต่อลูกสลายไปในพริบตา หลังพรรษาท่านก็ออกธุดงค์เพื่อแสวงหาที่วิเวกในการบำเพ็ญเพียรต่อไป ในช่วง ๗ ปีแรก ท่านได้รับโอวาทธรรมจากครูบาอาจารย์ที่สำคัญหลายท่าน อาทิ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง และหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี
ในพรรษาที่ ๘ ท่านได้ไปศึกษาธรรมปฏิบัติกับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็กราบลาหลวงปู่เพื่อไปบำเพ็ญสมณธรรมที่บ้านป่าลัน อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย จนวันหนึ่งท่านได้อุบายธรรมจากต้นเครือกระพังโหม โดยเห็นว่า “หากนำไปเผาให้ไหม้เสีย มันก็จะเกิดขึ้นอีกไม่ได้” แล้วน้อมเข้ามาว่า “ใจที่ไปก่อเอาภพชาตินั้น ก็เพราะใจยังมีกิเลส ตัณหา อวิชชา เมื่อใดที่ได้ทำลายกิเลส ตัณหา อวิชชา ให้หมดไปจากใจได้แล้ว ชาติภพที่เกิดขึ้นมาอีกก็ไม่มี” หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดญาณหยั่งรู้ขึ้น ทำให้ท่านเข้าถึงวิมุตติธรรมในที่สุด
ในพรรษาที่ ๙-๒๑ หลวงพ่อทูลเที่ยวธุดงค์ไปมาระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสาน ได้ไปกราบคารวะและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือหลายท่าน จนพรรษาที่ ๒๒ เมื่อได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ขาวอาพาธหนัก ท่านจึงกลับไปเยี่ยมและอุปัฏฐากหลวงปู่ขาวจนกระทั่งหลวงปู่ละสังขาร หลังจากเสร็จงานพระราชเพลิงศพ ท่านได้ไปพำนักที่วัดอภัยดำรงธรรม จังหวัดสกลนคร อยู่ ๑ พรรษา ต่อมาก็มาอยู่ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นการถาวร และเริ่มพัฒนาเป็นวัดป่าบ้านค้อ ที่มีความเรียบร้อยงดงามและมีเสนาสนะต่างๆ สมบูรณ์ สำหรับเป็นที่รองรับการอบรมธรรมะและบำเพ็ญบุญกุศลของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ดังที่ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ในปี ๒๕๕๑ หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ ๗๔ ปี ๔๘ พรรษา ตลอดเวลาที่ผ่านมา นับว่าท่านได้ทำตามคำปฏิญญาที่ท่านให้ไว้ ณ วันบวช ว่า “การบวชเป็นพระของเราในครั้งนี้ เราบวชทั้งกาย และบวชทั้งใจ ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เพื่อทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมตามที่เราได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้ให้สมบูรณ์ แล้วจะได้ทำประโยชน์ท่านที่เป็นส่วนรวมต่อไป”